READ AND LEAD TO 2021

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา กลายเป็นปีที่ฉีกหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของมนุษยชาติ หลากหลายวิกฤตการณ์กระหน่ำฟาดอย่างไม่มีผ่อนแรง ทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจ อุบัติภัย อาชญากรรม สิ่งแวดล้อม และการเมือง แต่ใช่ว่ามนุษย์จะยอมจำนนต่อการกดขี่ของวิกฤตการณ์เหล่านั้น

วิกฤติที่ถาโถมปลุกให้เราตื่นขึ้นมาจากวิถีชีวิตเดิมเพื่อค้นคว้าคำตอบและหนทางแก้ปัญหาต่อสิ่งใหม่ที่ไม่เคยพบ และยังมีการตื่นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การรื้อค้นและตั้งคำถามต่อสิ่งดั่งเดิมที่ฝังรากลึกยาวนาน เมื่อสิ่งต่างๆ เขย่าปลุกผู้คนให้ตื่นจนไม่อาจจะหวนกลับไปสู่จุดเดิมได้อีก คำถามก็คือ จากนี้ เราจะเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์และดำเนินชีวิตกันต่อไปอย่างไร

พบกับหนังสือน่าอ่านรับมือปี 2021 ที่จะพาทุกคน ‘ตื่น’ ด้วยการอ่าน เพื่อรู้ อยู่ และสู้ แนะนำโดยผู้มีชื่อเสียงจากหลายวงการ 8 ท่าน คือ คำ ผกา, รัศม์ ชาลีจันทร์, งามพรรณ เวชชาชีวะ, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, ประจักษ์ ก้องกีรติ, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข และ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

 
BBF_ReadandLead_1.jpg

1

รักสามัญ: บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร

ผู้เขียน รสมาลิน ตั้งนพคุณ  
สำนักพิมพ์ อ่าน

 

แนะนำโดย คำ ผกา

พิธีกร นักเขียน นักแปล คอลัมนิสต์

BBF_ReadandLead_1.1.jpg
 

มันยากมากที่จะเชื่อว่าป้าอุ๊ไม่ใช่นักเขียน

‘ป้าอุ๊’ เป็นใคร?

ป้าอุ๊มีชื่อจริงว่า รสมาลิน เป็นภรรยาของนายอำพล ตั้งนพคุณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อากง’ ทั้งสองเป็นสามัญสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง ทำมาหากินเป็นชนชั้นกลางบนเส้นขอบที่สามารถหล่นลงไปข้างล่างๆ นั้นได้ทุกเมื่อ และคงเป็นสามัญครอบครัวหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่อยากและไม่จำเป็นที่จะต้องรู้จัก ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขาฯ ส่วนตัวของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าแจ้งความว่าอากงส่งข้อความหาเขา 4 ข้อความซึ่งผิดกฎหมายมาตรา 112 ทำให้สามัญชนผู้นี้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรง และลงเอยด้วยการเสียชีวิตในคุก

ฉันจะไม่พูดถึงรายละเอียด ‘คดีอากง’ ในที่นี้ เพราะเรากำลังจะพูดถึงหนังสือของป้าอุ๊

 

รักสามัญ มีชื่อรองว่า บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร ฉันอยากจะเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งชื่อ คือ ‘หลายชีวิตชั้นสามัญราษฎร’ หนังสือเล่าถึงผู้คนในชีวิตป้าอุ๊ หลายสามัญชะตาชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้ เลือกไม่เกิดก็ไม่ได้ และจากโลกนี้ไปอย่างเงียบเท่าที่จะเงียบได้ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการเขียนไว้ในคำนำว่า “นี่มิใช่เป็นงานทดลองจากความเหลือเฟือทางรสนิยม หากคือความอัตคัดจนไม่ทิ้งพื้นที่ว่างบนหน้ากระดาษให้สูญเปล่า”

“ฉันเคยมีความรู้สึกว่าปีใหม่เมื่อไหร่ก็อยากจะโยนปีเก่าออกนอกหน้าต่าง และรีบให้ปีใหม่เข้ามาทางประตูหน้าทุกปี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ จะผ่านไปกี่ปี ฉันก็ไม่รู้สึกอะไรแล้ว ก็ปีใหม่เมื่อใด ฉันก็เก่าไปพร้อมกันทุกปี ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปแม้แต่ความฝันของฉัน มีแต่ความทรงจำที่ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น”

อ่านถึงบรรทัดนี้ ฉันไม่อยากจะเชื่อว่าป้าอุ๊ไม่ใช่นักเขียน

 

“ทำไมวันนี้ถึงรู้สึกเหนื่อยจัง ฉันไม่ได้กลัวตายเลย แต่ทำไมฉันวนเวียนคิด ติดตาคาใจจนบัดนี้ไม่คงที่เลย...เย็นนี้รู้สึกดีกว่าเมื่อวานหน่อย เหมือนสติที่ล้มจะตั้งขึ้นมาได้บ้างแล้ว จะเริ่มระบายในหนังสือแล้ว”

อ่านถึงตอนนี้ ฉันเชื่อแล้วว่าป้าอุ๊ไม่ใช่นักเขียน เพราะลำพังการเป็น ‘นักเขียน’ คงเขียนอะไรแบบนี้ไม่ได้

ฉันจะไม่เขียนอะไรมาก นอกจากบอกว่านี่เป็นหนังสือที่ฉันอยากแนะนำให้อ่าน อ่านเพื่อเข้าไปนั่งในความทรงจำของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่จนวันนี้เธอก็ยังไม่เข้าใจว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเธอ กับสามี และครอบครัวของเธอนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร อ่านเพื่อสัมผัสความอำมหิตที่ไม่เคยปรากฏรูปรอยให้จับจนได้ไล่จนทัน ทว่าไล่ล่าสามัญชนคนหนึ่ง ครอบครัวหนึ่ง จนล้มทั้งยืนและตื่นมาในโลกอีกใบที่แปลกไปแล้วโดยสิ้นเชิง

มันช่างทารุณสำหรับคนสามัญที่ไม่ปรารถนาอะไร นอกจากการไม่เป็นที่รู้จักของใคร และหวังเพียงสามารถถนอมรักระหว่างคนชั้นสามัญด้วยกันเอาไว้เท่านั้น


BBF_ReadandLead_2.jpg

2

LESS

ผู้เขียน Andrew Sean Greer  
สำนักพิมพ์ Lee Boudreaux Books
(ฉบับแปลภาษาไทย: เลส  ผู้แปล ศรรวริศา สำนักพิมพ์ กำมะหยี่)

แนะนำโดย รัศม์ ชาลีจันทร์

อดีตเอกอัครราชทูต เจ้าของเพจ ‘ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador’

BBF_ReadandLead_2.1.jpg
 

ชีวิตและความรักอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เสมอไป

คนเรามักจะคิดว่านิยายที่เกี่ยวกับความรักต้องมีพล็อต มีฉากหลังยิ่งใหญ่ มีเรื่องเศร้าโศกสลดใจให้เสียน้ำตาอย่าง Romeo and Juliet หรือ Gone with the Wind หรือแม้แต่หนังสือที่จะได้รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ก็ควรจะเป็นหนังสือหนาๆ เรื่องยาวๆ กินเวลาหลายชั่วอายุคน

แต่ Less หนังสือที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์ ปี 2018 เป็นหนังสือเล่มบางๆ เล่าเรื่องราวของนักเขียนเกย์วัยกลางคนซึ่งมีความสำเร็จระดับปานกลาง ชื่อว่า Arthur Less ออกเดินทางไปท่องโลกเพื่อเป็นข้ออ้างที่จะได้ไม่ต้องไปร่วมการงานแต่งงานของอดีตแฟนหนุ่มกับชายคนรักใหม่

หากพินิจพล็อตเรื่องเผินๆ ก็อาจดูเหมือนกับเป็นเรื่องราวการเดินทางเพื่อค้นพบตนเองทั่วไป แต่การเล่าเรื่องของ Greer หรือผู้เขียนที่ให้เรื่องราวแต่ละบทเกิดขึ้นและจบลงในหนึ่งประเทศ สร้างความน่าติดตามในแต่ละตอน ซึ่งในฐานะผู้อ่าน เราสนุกและตื่นเต้นที่จะรีบอ่านให้จบบทเพื่อจะได้รู้ว่าพอจบจากประเทศนี้แล้ว ตัวตนของ Arthur จะเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร

Arthur เป็นตัวละครที่มีบุคลิกนุ่มๆ เนิบๆ ออกจะขี้กลัวในบางที แต่เขาก็ยังมี Self-awareness (การตระหนักรู้ในตนเอง) พอที่จะเข้าใจโลกและตัวเอง ซึ่งนำไปสู่ Self-depreciating jokes (การเล่นมุกตลกเชิงล้อเลียนตัวเอง) หลายมุกในหลากประเด็น รวมถึงประเด็น LGBT+ ซึ่งผมชื่นชมในความสามารถของ Greer ที่สามารถเขียนเล่าเรื่องราวการผจญภัยให้ยังคงมีความธรรมดา และ Normalize ความเป็นเพศทางเลือกให้เป็นเรื่องปกติได้ ทำให้ผู้อ่านไม่ว่าจะมีบุคลิกลักษณะใดก็สามารถติดตามและมีความรู้สึกร่วม (Empathy) กับ Arthur มนุษย์ธรรมดาหนึ่งคน ที่แม้นามสกุลจะบอกว่าเขาด้อยค่า แต่เรื่องราวของเขามีความหมายอย่างไม่น่าเชื่อ

 

ทั้งนี้ ในความคิดผม Less อาจเป็นหนังสือรางวัลพูลิตเซอร์ที่อ่านง่ายและ Feel good ที่สุดแล้วก็ว่าได้ เป็นบทพิสูจน์ว่าการเขียนที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องมีพล็อตที่ซับซ้อนเสมอไป หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ เล่มนี้ให้มุมมองที่กว้างต่อหลายรูปแบบชีวิตในสังคมได้

บางครั้งความรักและชีวิตคนเรานั้นไม่ได้ต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อลังการจึงจะมีความหมาย แต่ชีวิตเล็กๆ ความรักธรรมดาๆ ของคนทุกคน ไม่ว่าจะมีเพศสภาพใด ล้วนมีความหมายและความงดงามในตัวมันเองเสมอ


BBF_ReadandLead_5.jpg

3

Everything Is F*cked: A Book about Hope

ผู้เขียน Mark Manson  
สำนักพิมพ์ Harper

 

แนะนำโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ

นักแปล นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2549

BBF_ReadandLead_5.1.jpg
 

ในแต่ละปี เรามองไปข้างหน้าด้วยความหวังว่าปีที่กำลังมาถึงจะดีกว่าปีที่กำลังผ่านพ้นไป เราอวยพรให้กันว่า สุขสันต์วันปีใหม่ และปรารถนาว่าจะเป็นจริงเช่นนั้น

ปี 2563 ประวัติศาสตร์โลกจะต้องบันทึกไว้ว่าเป็นปีที่มนุษยชาติเผชิญหน้ากับมหันตภัยไวรัสที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างและรุนแรง ชนิดที่ไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า โลกเปลี่ยนไป ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

ทว่า โลกยังคงหมุน เรายังคงสูดลมหายใจและใช้ชีวิตต่อไป มีคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบ บางคำถามมีอยู่เดิม แค่ก่อนหน้านี้เราไม่สนใจ บางคำถามเกิดขึ้นใหม่สืบเนื่องจากสภาพสังคมและพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป ในโอกาสที่กำลังจะก้าวสู่ปีใหม่ด้วยคำถามมากมาย การค้นหาคำตอบก็น่าจะเป็น ของขวัญ ที่เรามอบให้กับตัวเองได้ หนังสือที่เลือกนี้มีคำตอบให้บางคำถาม (แม้ว่าจะเป็นคำตอบที่ไม่ถูกใจนักก็ตาม) และน่าจะจุดประกายให้นำไปต่อยอดมองหาแนวทางที่ช่วยให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้อีกหนึ่งปี

 

เนื้อหาในเล่มที่น่าสนใจ

  • The Uncomfortable Truth – มนุษย์ช่างด้อยค่าเมื่อเทียบกับจักรวาลอันยิ่งใหญ่ เราเกิดมาเพื่อตายไป ช่างเป็นความจริงอันเจ็บปวด

  • Paradox of progress – มนุษยชาติมาถึงจุดที่อายุยืนยาว ชีวิตสะดวกสบาย แต่กลับอ้างว้างโดดเดี่ยว เผชิญกับความรู้สึกไร้ความหวัง เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่คนรุ่นหนุ่มสาวเกิดภาวะซึมเศร้า แปลกแยกจากสังคม วิกฤตศรัทธา ไม่อาจวางใจใครหรืออะไรได้

  • Finding purposes – มนุษย์ต้องหาเป้าหมายให้กับชีวิตเพื่อสร้างความหวัง

  • Think Brain VS Feeling Brain – สมองมนุษย์แยกเป็นสองส่วน ความคิด กับ ความรู้สึก ความคิดกำกับการกระทำแต่ความรู้สึกทำให้เราลงมือกระทำได้ ปัญหาคือเราให้ความสำคัญกับอารมณ์เกินไป สองส่วนจำเป็นต้องประสานกันเพื่อนำพาเราไปบนถนนชีวิตและมีความหวัง

  • Pain – เราจะเติบโตต่อเมื่อเผชิญกับความเจ็บปวด ไม่มีทางที่จะรอดพ้นความเจ็บปวดได้ เราจึงมักพบว่าทุกอย่างในชีวิตไม่เป็นอย่างใจปรารถนา (Everything is fucked) ทางรอดเดียวคือหยุดวิ่งหนีจากความเจ็บปวดและยอมรับว่าคือส่วนหนึ่งของชีวิต

  • Internet – ไม่ได้ทำให้โลกดีขึ้นเพราะสิ่งที่ขับเคลื่อนโลกไม่ใช่ข้อมูล แต่เป็นความรู้สึก

  • True form of freedom is through self-limitation. การเลือกสละบางสิ่งในชีวิตเท่านั้น เราจึงจะเป็นอิสระ

  • การปกครองประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีพลเมืองที่มีวุฒิภาวะ

  • Pursuit of Happiness is a value of the modern world. โลกสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับการไขว่คว้าหาความสุข หากแต่ความสุขไม่ได้เกิดขึ้นเป็นเส้นระนาบ เราสุขเพียงชั่วขณะเท่านั้น

▪︎

photo credit: อนุชา ศรีกรการ


BBF_ReadandLead_3.jpg

4

ANOTHER LIFE

ผู้เขียน Theodor Kallifatides  
ผู้แปล Marlaine Delargy (จากฉบับภาษาสวีดิช)  
สำนักพิมพ์ Other Press

 

แนะนำโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ สื่อมวลชน ผู้ดำเนินรายการ

BBF_ReadandLead_3.1.jpg
 

ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน ประเทศไทยช่วงนี้ไม่ใช่ประเทศที่ดี ชีวิตในประเทศแบบนี้ดำรงอยู่ท่ามกลางความเสื่อมถอยทางจิตวิญญาณจนลืมว่าเราเคยจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่านี้ได้ ไม่ใช่สังคมที่รัฐขนคอนเทนเนอร์นับร้อยปิดเมืองเพื่อสกัดการเดินขบวน

รุสโซ¹ เคยบอกว่ามนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกที่ล้วนถูกพันธนาการ การหนีไปจากสังคมจึงเป็นวิธีที่คนคิดว่าง่ายที่สุดในการปลดเปลื้องตัวเองจากทุกข์ แต่ที่จริง การแบ่งปันคือหนทางที่ทำให้คนมีความสุขยิ่งกว่า ไม่ใช่ออกจากโลกจนมีจุดจบแบบตัวละครใน Into the Wild ²

 

Theodor Kallifatides เป็นนักเขียนซึ่งเล่นประเด็นนี้ได้แหลมคมใน Another Life โดยเริ่มจากปัญหาง่ายๆ ว่าเขาเขียนอะไรไม่ได้อีก ทางออกของคาลลีฟาธีเดส ผู้เกิดที่ประเทศกรีซ แต่เรียน เขียน และสอนหนังสือที่สวีเดน ได้กลับบ้านไปหารากหรืออีกนัยคือออกจากสวีเดน สถานที่ที่สร้างตัวตนเขาขึ้นมา

แน่นอนว่าประเด็น Nostos หรือ กลับบ้าน ถูกใครต่อใครใช้เล่าเรื่อง Nostalgia (การรำลึกความหลัง) เยอะจนแทบไม่เหลืออะไรน่าสนใจ แต่กรีซคือกำเนิดอารยธรรมตะวันตกซึ่งปัจจุบันโรยราราวโลกที่สามของยุโรป การกลับบ้านในกรณีนี้จึงไม่ใช่การกลับไปหารักเก่าที่บ้านเกิดหรือความหลังอันสวยงาม

Another Life เล่าเรื่องซึ่งรวมศูนย์ไว้ที่ความคิดคำนึงของผู้เขียนต่อสองสังคมที่อยู่รอบตัวคาลลีฟาธีเดส ในตอนหนึ่งแสดงความปีติที่เขาตาสว่าง หลังพบคำสองคำในภาษา Gotland³ คำแรกคือ Ostor หรือ Unbig อีกคำคือ Fingå หรือ to go for a fine walk ซึ่งทำให้เขาบรรลุว่าความสุขคืออะไร

 

หนังสือเล่มนี้ไม่สนุก เขียนโดยผู้เขียนที่ตั้งใจพร่ำบ่นเหมือนขึ้นรถไฟชั้นสามแล้วโดนชวนคุยโดยลุงที่ไม่รู้จักกัน เสน่ห์ของการคุยแบบนี้คือการฟังโดยไม่ต้องสนใจว่าเขาคือใคร เล่าเรื่องได้รู้เรื่องขนาดไหน แต่คือการวาบของความคิดจากบทสนทนาที่เป็นเศษเสี้ยวจนคล้ายไม่มีอะไรเลย

Another Life เตือนสติว่าการฟังสำคัญเท่าการพูด และการทำตัวให้เล็กลงสำคัญต่อการตาสว่างของคน

 ▪︎

¹ ฌอง-ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau)
² Into the Wild เขียนโดย Jon Krakauer นวนิยายอิงชีวิตจริงของ Christopher McCandless ชายผู้ละทิ้งทุกสิ่งในชีวิตแล้วออกเดินทางสู่ผืนป่าด้วยหวังว่าจะพบกับความสุขทางจิตวิญญาณ
³ Gotland เกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสวีเดนและทะเลบอลติก


สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

5

เอ่ยชื่อคือคำรัก

ผู้เขียน Andre Aciman  
ผู้แปล อารีรัตน์ ขีโรท  
สำนักพิมพ์ Classact Publishing
(ต้นฉบับ: Call Me by Your Name  สำนักพิมพ์ Janklow & Nesbit Associates)

 

แนะนำโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนบท นักแสดง

BBF_ReadandLead_4.1.jpg
 

กอล์ฟอ่านหนังสือเล่มนี้หลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์ หลังจากที่ประทับใจกับภาพยนตร์ Call Me by Your Name ก็รีบหาหนังสือ เอ่ยชื่อคือคำรัก มาอ่านทันที พบว่าชอบมากเช่นเดียวกันกับเวอร์ชั่นภาพยนตร์ แต่มีเสน่ห์กันคนละแบบ

แน่นอนว่าฉบับภาพยนตร์ ผู้กำกับเลือกภาพ เลือกเสียง เลือกดนตรีประกอบ เลือกวิธีเล่าเรื่อง เลือกการลำดับภาพ มาถ่ายทอดให้เราดู ให้เรารับรู้ความรู้สึกของตัวละคร เราก็มีความรู้สึกร่วมในแบบที่ผู้กำกับเลือกสรรให้เราแล้ว ซึ่งแตกต่างจากเวอร์ชั่นหนังสือ เราอ่านจากตัวอักษรที่ผู้เขียนบรรยายให้เราอ่าน แต่ภาพที่ปรากฏในหัว เสียงที่เราได้ยิน กลิ่นที่เราสัมผัส ล้วนมาจากตัวตนเรา ประสบการณ์ชีวิตเรา จินตนาการของเรา และน้ำตาของเราที่ไหลจากเรื่องเล่าเดียวกัน แต่หากการนำเสนอต่างกัน มันก็คนละรสชาติกัน

อยากแนะนำให้อ่านกันนะคะ

ความรักครั้งแรกของแต่ละคนล้วนไม่เหมือนกัน การอ่านหนังสือหรือชมภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน แต่ว่าต่างคนก็มีประสบการณ์ร่วมที่แตกต่างกัน

นี่แหละค่ะ เสน่ห์ของงานศิลปะ


BBF_ReadandLead_6.jpg

6

ปีศาจ

ผู้เขียน เสนีย์ เสาวพงศ์  
สำนักพิมพ์ มติชน

 

แนะนำโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นักเขียน

BBF_ReadandLead_6.1.jpg
 

นิยายเรื่อง ปีศาจ คือหนังสือของห้วงยามปัจจุบัน แม้ว่าจะตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี rพ.ศ. 2496 - 2497 แต่หนังสือเล่มนี้ไม่เคยล้าสมัยไปตามกาลเวลาที่ล่วงเลย

 

ที่บอกว่า ปีศาจ คือหนังสือของยุคสมัย เพราะมันถึงพูดถึงการปะทะกันระหว่าง ‘โลกเก่า’ กับ ‘โลกใหม่’ เมืองกับชนบท คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ และสามัญชนกับชนชั้นสูง ตัวละครอย่างสายสีมา รัชนี กิ่งเทียน และท่านเจ้าคุณ คือตัวละครที่โลดแล่นอยู่บนโลกกายภาพใบเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีจักรวาลคู่ขนานที่ไม่อาจบรรจบกันได้ เฉกเช่นเดียวกับกระแสธารที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ยุคสมัยปัจจุบันคือยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านอย่างขนานใหญ่ทั้งในแง่ระเบียบทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจ และคุณค่าทางวัฒนธรรม ยุคสมัยที่ดูผิวเผินเสมือนสับสนอลหม่าน ไร้ระเบียบ แต่ลึกๆ แล้วคือยุคสมัยของความน่าตื่นเต้น พิศวง และโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับการสร้างโลกใบใหม่ที่ดีกว่าเดิม ความขัดแย้งในทางการเมืองที่เผยตัวออกมาผ่านช่องว่างทางความคิดและการแสดงออกระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ แท้จริงแล้วเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ที่ฐานของมันคือความขัดแย้งในเชิงคุณค่าและจิตสำนึกที่ผู้คนจดจำอดีตและฝันใฝ่ถึงอนาคตแตกต่างกัน

 

ปีศาจ คือหนังสือที่คู่ควรแก่การอ่าน เพื่อขบคิดและเข้าใจสังคมไทยที่เราอาศัยอยู่ มันสะท้อนและเผยความจริงของยุคสมัยได้แหลมคมและหมดจดยิ่งกว่าหนังสือวิชาการใดๆ สุดท้ายแล้วหนังสือเล่มนี้คือหนังสือที่มาก่อนกาล เพราะมันพูดถึงจิตวิญญาณและพลังของความเปลี่ยนแปลงของคนหนุ่มสาว ในยุคที่ขบวนการของคนหนุ่มสาวยังไม่ได้ปรากฏตัวเป็นรูปเป็นร่าง

นอกจากนั้น มันยังเป็นหนังสือที่ศรัทธาในคุณค่าของสามัญชน คุณค่าของความเสมอภาค และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน


พลอยแสง เอกญาติ

7

a day 241
ฉบับรวมเรื่องสั้น ‘สถาน ณ กาลไม่ปกติ’

ผู้เขียน รวมนักเขียน  
สำนักพิมพ์ a book Publishing

 

แนะนำโดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

นักเขียน ศิลปินรางวัลศิลปาธร ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาทัศนศิลป์ อดีตอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

BBF_ReadandLead_7.1.jpg
 

ต้นปีถัด โควิดแผลงชัดขึ้น ความพิศวงต่อแวดล้อมในฐานะผู้ยัง(คงดำรง)แปลบประกายแปร่งๆ และโดยเฉพาะในฐานะคนทำงานศิลปะที่นิทรรศการเดี่ยวเพิ่งเปิดไปสองแห่งต้องปิดตัวลงก่อนจบ พิธีเปิดงานกลุ่มในที่เกิดการระบาดรอบสองภัณฑารักษ์ใช้วิธีอธิบายงานออนไลน์ชิ้นละ ๑ นาที งานแสดงอีกแห่งกำลังจะถูกเลื่อนและแทนที่ด้วยภาพกับคำถกกันในซูม ความตื่นเร้าแห้งๆ ต่อสถิติคนป่วยและตายรายวัน ทำให้ใครคนหนึ่งอยากก้าวพ้นคำบ่นว่า คร่ำครวญ หรือรื่นรมย์ จนเสียสติ

 

ขณะฉงน หนังสือเล่มหนึ่งรวมทัศนะร่วมสมัย มุมมองต่อและใน ‘สถาน ณ กาลไม่ปกติ’ ในรูปของรวมเรื่องสั้นที่เริ่มด้วย คอนเสพท์ มากกว่ารวมเพศร่วมวัย หรืออะไรก็ได้นำแง่มุมนานามาสู่ ขนมปังขึ้นรา แมว นก หลอดยาสีฟัน เหล้ากับสนทนาทึม-กรีดชื้นสายฝน ตัวละครเพศผู้คู่ขนานแดนตะวันออก คู่กรรมกับคิดคำนวณทางรอด ผิดบาปของลูกชายโหลยโท่ย ความหลอนในกล่องสูงทรงเหลี่ยม หญิงสาวผู้เสียตัวกับกลไกเมือง

 

เปล่า ไม่ใช่สาระ ไม่แห้ง คล้ายเรารับฟังระบาดวิทยาเชิงสถิติแล้วหยิบหน้ากากมาสวม แต่เป็นอาการของการคลี่ เผย เกือบทั้งหมดมีทุนของปม ของอคติ ความเฝื่อนขม มัดร้อยพันผูก ไม่มีใครในเล่มที่ไม่ติดกับดักของ ‘ความเป็นตน’ ดำรงมาก่อนจะลงมือเขียน และไม่มีใครที่ขณะเขียนไม่เผชิญกับ ‘ในตน’

 

หลายครั้งคนทำงานสร้างสรรค์ (เราอาจใช้คำนี้ได้แต่ควรกระดากสักหน่อย) หิวหา ‘ความไม่ปกติ’ เพื่อกระทุ้งเปิดความสร้างสรรค์ของตัว ความน่าสนใจอยู่ตรงทุนลบต่อระบบ สังคม ชีวิต และเงื่อน วนปนอยู่ในทุนบวกเชิงทักษะของผู้ถ่ายโอนฟุ้งคิด ปลดปล่อยและอัดเอื้อนตัวบทในสูตรผสมแปลกๆ ชวนฉงนในรูปของเรื่องสั้น บรรเทาความจริงย้ำซ้ำหนักเนือยอันนำปฏิกิริยาสามัญต่อส่วนจู่โจมค้างคาที่ยังหมักคาโลกมาสู่เรา

 

บางที จำรุงคำในท่ามความกระทบสะเทือน คือภูมิคุ้มกันพิเศษ ในนึกคิดในอารมณ์ สะหรือถึงใจหรือไม่ แม้ชั่วครู่คราวแล้วผ่านไป แต่หนังสือเล่มนี้ส่องสะท้อนความเป็นมนุษย์ผู้โอบรับ เข้าร่วมกับสภาพของความเป็น และอาจตายในท่าทีที่ไม่เปล่าดาย


BBF_ReadandLead_8.jpg

8

ในฝันอันเหลือจะกล่าว

ผู้เขียน เดือนวาด พิมวนา  สำนักพิมพ์ อ่าน

แลไปข้างหน้า

ผู้เขียน ศรีบูรพา  
จัดพิมพ์โดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสานแห่งประเทศไทย

 

แนะนำโดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

รองศาสตราจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเขียน นักวิชาการและนักวิจารณ์วรรณคดี

BBF_ReadandLead_8.1.jpg
 

ในยุคแห่งการตื่นครั้งใหญ่ (the great awakening) ที่เยาวชนไทยหันมาขุดค้นเพื่อศึกษาเรื่องราวในอดีตที่ถูกกลบฝังในสังคมไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์นอกตำราที่รัฐไทยพยายามปกปิดหรือบิดเบือน และตำนานที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนหายไปจากความทรงจำ ผมอยากแนะนำนวนิยายอิงประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยสองเล่มที่ควรอ่าน ได้แก่ ในฝันอันเหลือจะกล่าว (2563) นวนิยายเล่มใหม่ล่าสุดของเดือนวาด พิมวนา และ แลไปข้างหน้า (2498) นวนิยายเล่มสุดท้ายที่เขียนไม่จบของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

ในฝันอันเหลือจะกล่าว บันทึกเรื่องราวและบรรยากาศทางเมืองในช่วงปลายปี 2556 ถึง 2557 ที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและการเลือกตั้งทั่วไปจนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ผ่านชีวิตครอบครัวของสายนที ที่มีพี่สาวสองคนซึ่งแตกแยกกันทางความคิดการเมืองจนถึงขั้นไม่มองหน้ากัน ส่วนตัวสายนทีเองก็เห็นต่างจากคนส่วนใหญ่ในแวดวงนักเขียนจนกลายเป็นเหมือน “แกะดำ” ความโดดเด่นของนวนิยายเล่มนี้อยู่ที่การนำนัยยะของ “ความฝันอันสูงสุด” ในบริบทของสังคมไทยที่เชื่อมโยงกับนวนิยายเรื่อง ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า มาตีความใหม่ โดยชี้ให้เห็นด้านที่เป็นความวิปลาสขาดสติของสิ่งที่เรียกว่า “ความฝัน” ของดอน กิโฆเต้ ชายแก่สติฟั่นเฟือนผู้หลงคิดว่าตนเองคืออัศวิน

การนำเรื่องราวของ ดอน กิโฆเต้ และ ซานโช่ มาตีความใหม่ ช่วยสร้างคำอธิบายถึงกลุ่มคนที่ออกมาสนับสนุนขบวนการล้มล้างและต่อต้านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ว่าหาใช่เป็นเพียงเพราะพวกเขาเหล่านี้เป็นกบใต้กะลาหรือทาสที่ปล่อยไม่ไป หรือเป็นพวกฝักใฝ่ในอำนาจและผลประโยชน์ถ่ายเดียว แต่ที่น่าตกใจและน่ากลัวกว่าก็คือ พวกเขาล้วนกระทำไปด้วยศรัทธาอันแรงกล้าในความฝันอันสูงสุดของนักฝันผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ต่างอะไรกับซานโช่

 

หากจะถามต่อว่า ทำไมผู้ได้ชื่อว่ามีสติปัญญาในสังคมไทยจึงกลายเป็นซานโช่ที่หลงเชื่อในความฝันของคนบ้าอย่างหัวปักหัวปำ หนึ่งในคำตอบก็คือเพราะเราอ่านและพูดถึงนวนิยาย แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา กันน้อยเกินไป จริงอยู่ว่าทุกวันนี้ศรีบูรพาได้รับการยกย่องและเชิดชูอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้อุทิศตนต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยแม้จะต้องแลกกับอิสรภาพของตนเอง แต่น่าประหลาดใจที่นวนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า ของเขากลับไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร แลไปข้างหน้า เป็นหนึ่งในหนังสือจำนวนน้อยนิดมากที่เชิดชูและยกย่องคุณูปการของการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ของคณะราษฎร และถึงแม้ว่าคุณกุหลาบจะไม่เห็นด้วยและวิพากษ์ผู้นำบางคนในคณะราษฎร แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างไม่เสื่อมคลาย ดังที่เขาให้นิทัศน์ตัวละครในนวนิยายเล่มนี้กล่าวเตือนสติเพื่อนรักของเขาว่า

 

“คนพวกหนึ่ง อาจจะทำให้ประชาธิปไตยของเราล่มจมลง แต่ก็จะต้องมีคนอีกพวกหนึ่งมากู้มันขึ้น และทำให้กลไกของมันเดินคล่องขึ้น และดีขึ้นเป็นแน่ . . . . ไม่มีเสียละที่จะถอยกลับไปข้างหลัง เราหลุดออกมาจากหนองน้ำของพวกจระเข้ และเมื่อต้องเผชิญกับเสือ เราจะกลับถอยเข้าไปในปากจระเข้อีกหรือ . . . . ทางเลือกของราษฎรมีอยู่แต่ทางเดียว คือเราจะต้องฟันฝ่าอันตรายในดงเสือและค้นหาทางออกไปข้างหน้าเท่านั้น ถ้าพวกคนชั้นสูงเขาคิดว่าราษฎรจะกลับเรียกร้องให้พวกเขามาปกครองประเทศอีก ก็นับว่าพวกเขาฝันไปอย่างน่าสงสาร” (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย)

 

เสียดายว่าซานโช่แห่งประเทศไทยในปี 2557 ไม่ได้อ่านนวนิยายเล่มนี้ หรือรำลึกถึงคำเตือนของศรีบูรพาดังที่ยกมาข้างต้น ทุกวันนี้เราจึงต้องมาดิ้นรนต่อสู้หาทางออกจากปากจระเข้อย่างเลือดตากระเด็น

 

ในแง่มุมทางวรรณกรรมศึกษาและวรรณศิลป์ นวนิยายทั้งสองเล่มมีประเด็นว่าด้วยความเหมือนจริงและความสมจริงของวรรณกรรมการเมืองที่ชวนให้ขบคิดและถกเถียงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความไม่สมจริงของการให้ตัวละครสนทนาเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง และยืดยาวเป็นหน้าๆ ดังที่พบเห็นในนวนิยายทั้งสองเล่มนี้ (หนึ่งในข้ออ้างที่ทำให้ไม่ค่อยมีการพูดถึง แลไปข้างหน้า ก็คือการอ้างเรื่องความไม่สมจริงดังกล่าว) แต่ทุกวันนี้หากลองเงี่ยหูฟังเสียงของคนรอบตัว บทสนทนาที่ว่ากันว่าไม่สมจริงในนวนิยายทั้งสองเล่มนี้ช่างเหมือนจริงอย่างน่าประหลาดใจ ในยุคสมัยแห่งความตื่นตัวทางการเมืองอันมาจากปรากฏการณ์ตาสว่างครั้งใหญ่ วรรณกรรมการเมืองควรจะเลือกเดินไปในเส้นทางใด จะยังคงสนใจอยู่กับการใช้สัญลักษณ์ซับซ้อนยอกย้อนเพื่อสื่อสารประเด็นอันแหลมคม หรือจะนำเสนอประเด็นเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา ฉะฉาน คมคาย จะแจ้ง ดังที่เราได้ยินได้ฟังจากเวทีชุมนุมของเหล่า “ราษฎร”

 

นี่เป็นคำถามที่รอคำตอบจากนวนิยายเล่มใหม่ๆ ของนักเขียนไทยร่วมสมัยในยุคแห่งการตื่นครั้งใหญ่นี้