บุไรฮะ (無頼派) รวมผลงานของนักเขียนกลุ่มปฏิปักษ์สังคม

BBF2021_Articles-Exclusive books (2).jpg

บุไรฮะ รวมผลงานของนักเขียนกลุ่มปฏิปักษ์สังคม (無頼派) คือผลงานจากกลุ่มนักเขียนหัวก้าวหน้าที่ถูกสังคมญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มองว่ามีมุมมองที่ออกจะขวางโลกไปสักนิด แต่แท้จริงแล้วพวกเขาแค่อยากสะท้อนมุมมองของโลกและชีวิตผู้คนช่วงหลังสงครามในสายตาของคนรุ่นใหม่ให้โลกได้รับรู้ผ่านงานเขียนก็เท่านั้น

สงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างผลกระทบให้กับคนทั่วโลก ประเทศญี่ปุ่นในฐานะผู้พ่ายแพ้สงครามก็ได้รับความเสียหายจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ ผู้คนเสื่อมความศรัทธาในศาสนา ศีลธรรม และความเชื่อ โดยเชื่อว่าชีวิตคนเรานี้ไร้เป้าหมาย ไม่มีคุณค่าอะไร จึงเกิดเป็นความคิดความเชื่อแบบสุญนิยม (Nihilism) ขึ้นในญี่ปุ่น ทำให้นักเขียนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาปฏิเสธแนวทางการสร้างสรรค์งานของนักเขียนยุคก่อนสงคราม และพยายามถ่ายทอดความเป็นจริงของชีวิตที่ไร้ความหมายนี้ลงในงานเขียนของตัวเอง นอกจากนั้น พวกเขายังมีชีวิตส่วนตัวที่ใครต่อใครมองว่าสำมะเลเทเมา ไร้ความรับผิดชอบ พวกเขาจึงได้รับสมญานามจากนักเขียนสายอนุรักษ์นิยมยุคก่อนว่า บุไรฮะ ซึ่งก็หมายถึงนักเขียนกลุ่มปฏิปักษ์สังคมนั่นเอง

เมื่อพูดถึงนักเขียนกลุ่มบุไรฮะ หนึ่งคนสำคัญที่จะข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ โอดะ ซาคุโนะสุเกะ หนุ่มโอซาก้าผู้เรียงร้อยเรื่องราวขึ้นจากฉากผู้คนในเมืองที่เขาอาศัยอยู่ เขาเขียนเล่าถึงประเพณี รวมถึงวิถีชีวิต และความประพฤติของผู้คนในเมือง แต่ตัวละครที่เขาสร้างขึ้นมักจะมีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับธรรมเนียมของคนในพื้นที่ จึงมักทำตัวนอกกรอบ แปลกแยกเพื่อห่างจากวิถีคนทั่วไปอยู่เรื่อย การสร้างโลกของโอดะไม่ได้หนีจากเรื่องราวในชีวิตประจำวันมากนัก แต่งานเขียนของเขามักชวนให้ขบคิดว่าในสังคมที่เราอาศัยอยู่อาจมีตัวละครแบบนั้นหลบซ่อนอยู่จริงๆ สำหรับผลงานของโอดะ ซาคุโนะสุเกะที่สำนักพิมพ์เจลิต (JLIT) คัดสรรมาให้ผู้อ่านได้สัมผัสกันก็คือความเรียง ‘ช่วงสิ้นสุดสงคราม’ (終戦前後) และเรื่องสั้น ‘เมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้’ (昨日• 今日• 明日)

นอกจากซาคุโนะสุเกะ อีกหนึ่งคนสำคัญในกลุ่มบุไรฮะก็คือ ซาคากุจิ อังโกะ ผลงานอันโด่งดังสร้างชื่อที่สะท้อนความเป็นบุไรฮะอย่างโดดเด่นเห็นชัดที่สุดของเขาก็คือความเรียง ‘ทฤษฎีความเสื่อมทราม’ (堕落論) ที่กล่าวถึงสภาพบ้านเมืองประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมและพิเคราะห์คุณค่าความสำคัญของหลักการบูชิโดที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือมานานในยามที่ทุกอย่างพังทลาย ผลงานอีกเรื่องหนึ่งของอังโกะที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ ‘ทฤษฎีความเสื่อมทราม’ และอาจพูดได้ว่าเป็นงานประพันธ์ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพสิ่งที่อังโกะเสนอไว้ในความเรียงดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นก็คือเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า ‘เซ่อซ่าปัญญาอ่อน’ (白痴) แม้จะนำเสนอแนวคิดและมุมมองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม แต่ผลงานของอังโกะนั้นสะท้อนความมีมนุษยธรรมอย่างโดดเด่นเห็นชัดเสมอ ทั้งสองเรื่องนี้ก็ได้รับการคัดสรรมาอยู่ในหนังสือเล่มนี้เช่นกัน

โอดะ ซาคุโนะสุเกะ, ซาคากุจิ อังโกะ และ ดะไซ โอซามุ

โอดะ ซาคุโนะสุเกะ, ซาคากุจิ อังโกะ และ ดะไซ โอซามุ

ดะไซ โอซามุ เป็นชื่อที่นักอ่านชาวไทยคุ้นเคยกันดีจากผลงานสุดคลาสสิกของเขาที่ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยอย่าง สูญสิ้นความเป็นคน (人間失格) และ อาทิตย์สิ้นแสง (斜陽) เขาเป็นนักเขียนหนุ่มแถวหน้าคนสำคัญในวงการงานเขียนนวนิยายช่วงศตวรรษที่ 20 ของญี่ปุ่น เมื่อดะไซตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง แฟนหนังสือผู้ติดตามผลงานของเขาต่างก็เศร้าโศกอย่างมาก นอกจากความเป็นนักเขียนระดับไอคอนแล้ว ดะไซยังเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มบุไรฮะด้วย ครั้งนี้ สำนักพิมพ์เจลิตได้คัดสรรผลงานบทละครของเขาที่มีชื่อว่า ‘ดอกไม้ไฟในฤดูหนาว’ (冬の花火) มาฝากนักอ่าน ซึ่งก็สะท้อนความเป็นปฏิปักษ์ต่อขนบของสังคมไม่แพ้ผลงานเล่มก่อนหน้านี้และยังสมศักดิ์ศรีในความเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มบุไรฮะ

นักเขียนกลุ่มปฏิปักษ์สังคมจะนำพานักอ่านไปสู่โลกยุคหลังสงครามของประเทศญี่ปุ่น สะท้อนความไร้แก่นสารของมนุษย์และความล้มเหลวของโครงสร้างสังคม แต่ทว่าก็เป็นความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับ ปรับตัว และอยู่ร่วมกับมันให้ได้

▪︎

ข้อมูลจาก
www.jlit.net/reference/literary-history/modern-fiction-postwar.html
www.publishersweekly.com/978-0-87011-779-4
https://en.wikipedia.org/wiki/Sakunosuke_Oda
https://en.wikipedia.org/wiki/Ango_Sakaguchi
https://en.wikipedia.org/wiki/Buraiha