DISCOVERING THE COVER DESIGNER

ชวนนักอ่านทำความรู้จักตัวตนและเบื้องหลังการทำงานของ ‘นักออกแบบปกหนังสือ’ ที่สร้างสรรค์มุมมองต่อหนังสือสะท้อนมาเป็นการออกแบบที่น่าประทับใจ โดยนักออกแบบปกของไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ 5 คน คือ พงศธร โชลิตกุล, วิรัญญา ฉัตรนิธิกุล, จิรวัฒน์ รอดอิ่ม, สิริกร จุฑาพฤฒิกร และ นุชชา ประพิณ

 
 
 

หากนักอ่านพบเห็นหนังสือของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ฮารูกิ มูราคามิ ดีไซน์ปกใหม่ทั้ง 5 เล่ม ของสำนักพิมพ์กำมะหยี่ ที่ดีไซน์สวยงามและเชื่อมโยงสอดคล้องกันชุดนี้ อาจประหลาดใจว่าผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบปกคือว่าที่วิศวกร ผู้ชื่นชอบงานกราฟิกจนก้าวสู่เส้นทางนักออกแบบปก

 

เส้นทางของนักออกแบบปกชื่อ พงศธร โชลิตกุล แตกต่างจากผู้ร่วมอาชีพส่วนใหญ่ สมัยเป็นนักศึกษา คุณพงศธรชื่นชอบหนังสือ ปกหนังสือ ตัวอักษร และการออกแบบเป็นอย่างมาก หลังเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ตัดสินใจก้าวข้ามทักษะตามใบปริญญา มาเรียนรู้ด้านออกแบบกราฟิกด้วยตนเองผ่านหนังสือ 

เมื่อมีโอกาสไปใช้ชีวิตที่ประเทศออสเตรเลีย จึงเข้าเรียนที่ TAFE NSW Design Centre Enmore ที่เมืองซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นวิทยาลัยการออกเเบบเเละการทำ Portfolio โดยสำเร็จในระดับ Advance Diploma สาขา Graphic เมื่อกลับประเทศไทยก็ทำงานด้านกราฟิกมาโดยตลอดยาวนานกว่า 20 ปี ปัจจุบันเป็น Design director ที่บริษัท Superunion สาขากรุงเทพ โดยดูเเลด้านการออกเเบบควบคู่ไปกับทีมกลยุทธ์

“เมื่อได้เข้าใจการออกแบบมากขึ้น เราก็ดูเรื่องการสื่อสารเนื้อหาผ่านภาพสื่อสารหลัก (Key visual) การใช้การออกแบบตัวอักษร (Typography) ที่มาที่ไป รวมถึงสไตล์เเละเทคนิคที่ใช้ จนวันหนึ่งสำนักพิมพ์กำมะหยี่เปิดให้ดีไซเนอร์มาร่วมสนุกออกเเบบปกใหม่ ชุดรวมเรื่องสั้นของฮารูกิ มูราคามิ ซึ่งเป็นนักเขียนที่เราชื่นชอบ ผลคือเราได้รับคัดเลือก หลังจากนั้นก็ได้ออกเเบบปกให้สำนักพิมพ์เรื่อยมาโดยใช้เวลาหลังจากทำงานประจำมาทำงานนี้”

 

โจทย์การออกเเบบหนังสือของฮารูกิ มูราคามิ ฉบับปกใหม่ 5 เล่มนี้ คือ คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ, ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ, ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย, สดับลมขับขาน และ ราตรีมหัศจรรย์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ คือ คุณอธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง บอกเขาแค่ว่า “ต้องการออกเเบบปกใหม่” ดูเป็นบรีฟที่แสนเรียบง่าย เเต่วิธีการคิดเเละทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์นั้นมีหลักและรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องใส่ใจอย่างมาก

“เรากับคุณอธิชาคุยกันก่อนว่าจะกำหนดคอนเซ็ปต์หลักเพื่อสร้างบุคลิกลักษณะให้ปกใหม่ไปในทิศทางไหน ตอนเเรกเราไม่ค่อยคำนึงถึงความเป็นเซ็ตแบบภาพรวม เพราะดีไซน์แยกทีละเล่มๆ ฟอนต์หรือสไตล์เลยเเตกต่างกัน แต่ครั้งนี้เราออกเเบบโดยยึดสไตล์หลัก คือ ภาพกราฟิกและไทโปกราฟี เเต่ก็มีจุดที่เเตกต่างกันของเล่มนั้นๆ เพื่อให้ปกไม่น่าเบื่อ แล้วก็ต้องการให้เกิด Impact เเละการจดจำเมื่อวางหน้าปกหนังสือทั้งหมดรวมกัน”

 

งานของมูราคามิมีเสน่ห์จากตัวละครที่ซับซ้อนและพล็อตเรื่องที่เชื่อมโยงกันอย่างประหลาด สไตล์ของกราฟิกที่ใช้ คือ เส้น Vector (ภาพประกอบจากจุดและเส้น) ที่เรียบง่าย ผ่านความขัดแย้งของภาพสื่อสารหลัก ซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่มีภาพเล็กอยู่ข้างใน ปกหลังเชื่อมเรื่องราวกับปกหน้าเมื่อกางออก ทั้งหมดออกแบบไปในทิศทางเดียวกัน ใช้สีเดียวเเละเรียบง่าย มีคู่สีหลักไม่มากเเต่ดูเด่นชัด

“เรื่อง คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ ใช้วิชวลเรียบง่าย เป็นเงาทึบของ 2 ตัวละครคือนกเเละเเมวที่กำลังปีนอยู่ ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ ใช้รูปทรงกลมเป็นสีของเพื่อนทั้ง 4 คนกับรถไฟ ด้วยรัก ความตาย เเละหัวใจสลาย คือ เเผ่นเสียง วาตะนาเบะ โทรุ เเละนาโอโกะ สลับลมขับขาน เเผ่นเสียง เบียร์ กับรูปทรงนามธรรมของลม และ ราตรีมหัศจรรย์ บทสนทนากับเเก้วกาเเฟที่สะท้อนภาพเมืองยามค่ำคืน”

 

หลังจากคุณพงศธรได้เนื้อเรื่องของหนังสือแล้วก็จะทำการค้นคว้าเพิ่มเติม รวมถึงการกำหนดภาพสื่อสารหลัก เลือกคู่สี เเละค้นหาแนวการออกแบบอักษร เมื่อได้เเนวทางและสไตล์การออกแบบที่ชัดเจนแล้วก็ใช้เวลาไม่นานในการลงมือทำ ผลงานออกแบบล่าสุดกับสำนักพิมพ์กำมะหยี่ คือ Murakami 1Q84 Box set, แดนฝันปลายขอบฟ้า เเละรักเร้นในโลกคู่ขนาน ฉบับพิมพ์ใหม่

“เราโชคดีที่ได้ทำงานกับคุณอธิชาและทีมกำมะหยี่ ซึ่งมักช่วยกันระดมสมอง รวมถึงการให้ Input ที่ดีและ Make sense ช่วยเรื่องการวางกรอบความคิดเละภาพจบแบบที่ต้องการ เมื่อเห็นภาพจบเหมือนกัน การออกเเบบก็ง่ายขึ้น”

 

ปกหนังสือเป็นเหมือนหน้าเเรกที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านรู้จัก เมื่อถูกใจในแรกเห็น ผู้อ่านก็มีแนวโน้มจะซื้อ หากอ่านเเล้วถูกกับจริตหรือประทับใจ ปกนั้นก็จะกลายภาพในความจำของผู้อ่าน

“ในฐานะผู้ออกแบบ เราอยากให้ปกหนังสือทำหน้าที่นั้น และนอกจากปกเเล้ว อยากให้ผู้อ่านให้ความสำคัญกับการสื่อสารของผู้เขียน ซึ่งก็คือเนื้อเรื่องด้วย ส่วนตัวคิดว่าหนังสือที่ดี ปกเเละเนื้อหาข้างในจะเข้ากันได้อย่างลงตัว”

▪︎

ติดตามผลงานออกแบบของคุณพงศธรได้จากหนังสือของสำนักพิมพ์กำมะหยี่


 
 

Mongol Navy เคยแสดงฝีมือการออกแบบหน้าปกหนังสือ ในกรงแก้ว หรือ The Bell Jar ของสำนักพิมพ์ Library House ด้วยเทคนิคการเพ้นท์ที่แสดงลายเส้นเป็นเอกลักษณ์และสื่ออารมณ์ได้อย่างน่าดึงดูดใจด้วยการสะท้อนอารมณ์และองค์ประกอบ ผ่านความนัย เส้นสี และฝีมือ

 

วิง–วิรัญญา ฉัตรนิธิกุล บัณฑิตจากคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เริ่มเข้าสู่วงการออกแบบปกหนังสือประมาณปี 2015 โดยการหาข้อมูลติดต่อของสำนักพิมพ์ที่ตนเองชื่นชอบหนังสือ แล้วแจ้งตรงๆ ว่าเธอต้องการขอร่วมงานด้วย “ทางสำนักพิมพ์เขาก็คงงงนิดหน่อย ว่ายัยคนนี้เป็นใคร (หัวเราะ)” ดีไซเนอร์สาวเล่าอย่างขบขัน

“วิงประทับใจกับการทำงานกับไลบรารี่ เฮ้าส์ เพราะพี่หน่อย รังสิมา เป็นบรรณาธิการที่ใจดีมาก พร้อมจะเก็ทกับการนำเสนอไอเดียแบบฟุ้งๆ ของวิงทุกครั้ง และมี Input ดีๆ กลับมาให้เสมอ ประทับใจที่ทุกการคุยจะรู้สึกได้ว่าพี่เขาอินกับงานแต่ละเล่มจริงๆ สำหรับหนังสือเล่มที่ทำหน้าที่ออกแบบปก และหนังสือของไลบรารี่ เฮ้าส์ เล่มอื่นๆ เท่าที่อ่านมาไม่เคยผิดหวังเลยค่ะ”

ก่อนเริ่มงาน นักออกแบบปกจะขอต้นฉบับหนังสือมาอ่านก่อน แล้วจึงใช้เวลากับคอนเซ็ปต์และการพัฒนางานประมาณ 1 เดือน (หากมีเวลานานกว่านั้นเธอก็จะใช้เวลานานขึ้น) สำหรับโจทย์ในการออกแบบปกหนังสือ 3 เล่ม คือ วสันต์สวาทของคุณนายสโตน คนวัดโลก และ ในกรงแก้ว บรรณาธิการจะพูดคุยและเล่าที่มา เกร็ดข้อเท็จจริง หรือนัยยะที่มีจากเนื้อหาและจากนักเขียน เพื่อให้นักออกแบบเห็นบริบทรอบด้าน เข้าใจโจทย์และเชื่อมโยงคอนเซ็ปต์ได้ดีขึ้น ส่วนแนวทางการออกแบบนั้นบรรณาธิการให้อิสระกับดีไซเนอร์อย่างเต็มที่ เทคนิคที่วิรัญญาชอบใช้ในการออกแบบ คือ การเพ้นท์ด้วยสีอะคริลิค (Acrylic) หรือสีกวอช (Gouache คือสีน้ำชนิดหนึ่งที่ทึบแสงมากกว่าสีน้ำปกติ)

วสันต์สวาทของคุณนายสโตน ส่วนตัวมองว่าเกี่ยวกับความรุ่งโรจน์ที่เสื่อมถอยไปแล้วก่อนที่เจ้าตัวจะพร้อม เลยเล่าด้วยภาพมือของรูปปั้นที่เก่าแตก แต่ยังพยายามยื้อเสื้อผ้าสีหวานแบบนางเอกละครเอาไว้กับตัวให้ถึงที่สุด เหมือนจะไม่ยอมรับว่าชีวิตได้ผ่านเลยไปแล้ว วิงแอบเรียกเองเล่นๆ ว่านี่คือธีม ‘คนสวยก็เจ็บปวด’ ค่ะ (หัวเราะ)” 

คนวัดโลก ด้วยความที่หนังสือเล่าขนานระหว่างตัวละครนักดาราศาสตร์กับนักชีวภูมิศาสตร์ จึงเล่าด้วยภาพแมลง แทนพวกตัวอย่างส่งตรวจที่เก็บมาจากการเดินทางไกล ทับซ้อนกับผังดวงดาวและสูตรคํานวณ เล่มนี้สนุกตรงที่ตัวละครมีตัวตนอยู่จริง ขั้นตอนการรีเสิร์จงานของเขาเลยสนุกมาก”

ในกรงแก้ว เนื้อเรื่องบางส่วนสะท้อนจากชีวิตจริงของผู้เขียนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า วิงเลยเอาลูกมะเดื่อมาใช้เป็นสัญลักษณ์ถึงความฝันในชีวิตที่เหี่ยวและร่วงหล่นลงเพราะไม่สามารถตัดสินใจคว้าได้ รวมกับ Rorschach test (ภาพหมึกสมมาตรที่ใช้ทดสอบผู้ป่วยจิตเวช) เพื่อสื่อถึงอาการป่วยและเป็นภาพสะท้อน มีกลิ่นความ Feminine ลายเส้นปั่นป่วน สีภาพวาดสดกว่าปกติเพราะผู้ป่วยน่าจะอ่อนไหวและรับรู้ภาพรอบตัวได้จัดจ้านกว่าคนทั่วไป”

  ▪︎

ติดตามผลงานออกแบบของ Mongol Navy ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Mongol Navy อินสตาแกรม mongolnavy_official และเว็บไซต์ Behance. mongolnavy


 
 

ทุกครั้งที่สำนักพิมพ์สมมติเปิดเผยภาพหนังสือออกใหม่ นักอ่านก็จะพากันตื่นตาตื่นใจเพราะการออกแบบปกที่สื่อสารได้อย่างจัดจ้านและทรงพลัง ยิ่งออกหนังสือเป็นชุดก็ยิ่งส่งแรงกระตุ้นความอยากครอบครอง อย่าง Special Set 8 เล่มใหม่ ปี 2020 ที่ประกอบด้วยวรรณกรรมแปล วรรณกรรมไทย และงานวิชาการ เพื่อตอบสนองความสนใจที่หลากหลายของผู้อ่าน

 

ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบปกหนังสือชุดนี้ คือ จิรวัฒน์ รอดอิ่ม นักออกแบบหนุ่มจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาลัยวิทยาลัยศิลปากร เริ่มต้นเส้นทางการออกแบบปกครั้งแรกกับสำนักพิมพ์ shine เมื่อ 4 ปีก่อน และได้ออกแบบปกหนังสือเล่มแรกให้สำนักพิมพ์สมมติในช่วงที่ตนเองเข้าไปเป็นนักศึกษาฝึกงาน หลังจากจบการศึกษาก็เข้าทำงานที่สมมติเต็มตัวในตำแหน่ง Graphic designer มีโอกาสได้ออกแบบปกของสำนักพิมพ์เรื่อยมา จนล่าสุด คือ Special Set 8 เล่มใหม่ 2020 ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

สำนักพิมพ์สมมติมีการแบ่งหมวดหมู่ของหนังสือไว้อย่างชัดเจน แต่ละหมวดจะมีโครงสร้างชุดงานและรูปแบบในการออกแบบที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้บางปกสามารถข้ามขั้นตอนการคิดโครงสร้างหรือการตีโจทย์ แล้วนำเวลาไปใช้กับการคิดขั้นตอนอื่นแทน

“เมื่อปี 2019 มีสไตล์การออกแบบปกค่อนข้างเหมือนกัน คือ การออกแบบอักษร (Typo design) อย่างหนังสือ 10 เล่มใหม่ของต้นปี 2019 มี 8 ใน 10 เล่มเป็นสไตล์ Typo ทั้งหมด ดังนั้นสำนักพิมพ์จึงมีการให้โจทย์เพิ่ม ซึ่งท้าทายความสามารถด้านศิลปะของเรามากขึ้น”

 

คอนเซ็ปต์ของ Special Set 8 เล่มนี้ มีคำจำกัดความ 2 คำหลัก คือ งานศิลปะ (Art) และ ความคลาสสิค (Classic) ส่วน Mood & Tone นั้นขึ้นอยู่กับหนังสือแต่ละเล่มเอง ช่วงที่ผ่านมาดีไซเนอร์และสำนักพิมพ์ได้พูดคุยและเสพงานศิลปะกันมากขึ้นจึงเกิดความคิดที่จะทำงานศิลปะแบบผสมผสานสไตล์และเทคนิค ทั้งการนำภาพพิมพ์โบราณ ภาพวาดสีน้ำมัน หรือภาพศิลปะโบราณมาคอลลาจ (Collage) แล้วจัดวางกับกราฟิกสมัยใหม่กับการออกแบบอักษร และโครงสร้างชุดงานของสำนักพิมพ์

 “8 เล่มนี้ เริ่มทำพร้อมกัน ทั้งคิดคอนเซ็ปต์ หาภาพตัวอย่างและลงมือออกแบบ ถ้าออกแบบปกไหนเสร็จในดราฟต์แรกก็จะส่งให้กองบรรณาธิการคอมเมนต์ ระหว่างที่รอคอมเมนต์ก็จะเริ่มออกแบบปกอื่นๆ ต่อไป ส่วนใหญ่ก็ใช้เทคนิคในการออกแบบและสร้างงานศิลปะทั่วไปที่ทดลองและปรับเปลี่ยนตามคอนเซ็ปต์ของแต่ละเล่ม สำหรับชุดนี้ เทคนิคที่ได้ใช้และรู้สึกชอบ คือ คอลลาจ”

Special Set 8 เล่มใหม่ 2020 ประกอบด้วย ว่าด้วยศิลปะและชีวิต (On Art and Life), ทู เดอะ ไลท์เฮาส์ (To the Lighthouse), งานเลี้ยงของบาเบตต์ (Babette's Feast), รยางค์และเงื้อมเงา, 2559 รวมเรื่องสั้นในส่วนเสี้ยวของกาลเวลา, ว่าด้วยประชาชน (On People) และ ในปีที่ยี่สิบเจ็ด และเรื่องสั้นอื่นๆ

 

ช่วงที่ผลิตหนังสือชุดนี้คือช่วงที่ประเทศเผชิญวิกฤตโควิด-19 ทำให้แผนงานและการเตรียมตัวร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติถูกปรับเปลี่ยนอย่างกะทันหัน รวมไปถึงทิศทางการทำงานและการออกหนังสือใหม่ แน่นอนว่าการออกหนังสือพร้อมกันถึง 8 เล่ม มีความเสี่ยงอย่างมาก แต่ทีมงานสมมติเห็นพ้องว่าต้องการทำหนังสือต่อตามแผนเดิมจนสำเร็จเป็น Special Set 8 เล่มใหม่ชุดนี้

“ตอนทำหนังสือชุดนี้รู้สึกดีมาก สนุกกับการออกแบบทุกเล่ม ตอนที่พิมพ์เสร็จ จำได้ว่าทุกคนในสำนักพิมพ์นั่งล้อมวงกันและมองดูทั้ง 8 เล่มด้วยความภาคภูมิใจในตัวเองกันมากๆ และเหมือนมีใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ขายได้ไม่ได้ ไม่รู้ แค่เสร็จออกมาได้แบบนี้ก็ฟินแล้ว” รู้สึกได้ถึง Passion ของคนทำหนังสืออย่างเต็มเปี่ยมเลย ช่วงที่ทุกคนเจอกับวิกฤติในการทำงาน ตัวผมอาจจะไม่กระทบมากเพราะงานส่วนใหญ่ทำผ่านหน้าจอโน้ตบุ๊ค แต่ก็มีบ้าง เช่น การติดต่อสื่อสาร หรือการออกไปพักผ่อนหรือหาแรงบันดาลใจ”

 

การออกแบบปกหนังสือก็เหมือนการสร้างงานศิลปะดีๆ ชิ้นหนึ่ง เพื่อให้เกียรติต่อผู้อ่านและผู้เขียนหนังสือ ปกชุดนี้ถูกออกแบบด้วยความตั้งใจและพิถีพิถันในทุกกระบวนการ ไม่ต่างกับเนื้อหาในเล่มที่สำนักพิมพ์คัดสรรมาเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าถึงงานเขียนที่ดีและคุ้มค่า

“ถ้าคุณกำลังหาหนังสือสักเล่มเพื่ออ่านยามว่าง 8 เล่มใหม่ของสำนักพิมพ์สมมติชุดนี้ มีทั้งงานวรรณกรรมแปลคลาสสิคขึ้นหิ้ง งานวิชาการเนื้อหาเข้มข้น และงานวรรณกรรมสัญชาติไทย อาจมีสักเล่มในชุดนี้ที่คุณกำลังตามหาอยู่อย่างแน่นอน”

▪︎

ติดตามผลงานออกแบบของคุณจิรวัฒน์ ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สำนักพิมพ์สมมติ และเว็บไซต์ www.sm-thaipublishing.com


 
 

เมื่อครั้งงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ปี 2018 หนึ่งในหนังสือที่ถูกพูดถึงการออกแบบหน้าปกที่งดงามละมุนละไม คือ เมื่อถึงเวลา ดอกไม้จะบานเอง ของ a book Publishing เมื่อลองค้นหาผลงานเล่มอื่นๆ ของนักออกแบบปกเพื่อตามชื่นชมกลับต้องแปลกใจ เพราะงานเล่มอื่นนั้นห่างไกลจากคำว่าละมุนละไมอย่างยิ่ง เนื่องจากนักออกแบบปกผู้นี้รับมือได้กับทุกสไตล์งาน จนชวนสงสัยว่าเป็นงานออกแบบจากคนคนเดียวกันจริงหรือ

29thWinter คือชื่อที่ใช้ในงานออกแบบของ ป๋วย–สิริกร จุฑาพฤฒิกร กราฟิกดีไซเนอร์จากภาควิชาเรขศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอเข้าสู่วงการออกแบบปกในช่วงงานแสดงธีสิสสำเร็จการศึกษา เมื่อนักออกแบบปกรุ่นพี่ คุณกรมัยพล แห่ง Wrongdesign มองเห็นฝีมือจึงชักชวนไปทำงานที่อะบุ๊ก 

“ตอนนั้นตื่นเต้นมากๆ เพราะเราจะไม่ได้ทำแค่ออกแบบปก แต่จะได้ทำรูปเล่มและได้รู้จักกระบวนการทั้งหมดของการทำหนังสือ ซึ่งเป็นอะไรที่เปิดโลกสำหรับเรามาก เรามีความสุขที่ได้อยู่เบื้องหลังสิ่งที่เติมเต็มชีวิตมาตลอด การได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเหมือนทำคลอดเองกับมือ”

 

ในระยะเวลา 2 ปีกว่า คุณสิริกรออกแบบปกหนังสือของสำนักพิมพ์อะบุ๊กหลายเล่ม อีกทั้งทำภาพประกอบปก และภาพประกอบเนื้อหาหนังสืออีกมากมาย ปกหนังสือ 3 เล่ม 3 สไตล์นี้ล้วนเป็นผลงานของเธอ โจทย์การออกแบบ มะนาลีกับจูลเลย์ คือ หิมาลัยที่ไม่เคยไปมาก่อน เมื่อถึงเวลา ดอกไม้จะบานเอง คือ เรียบง่าย แต่ต้องเล่าเรื่อง และ เถื่อน 100 คือ เข้ากันกับเล่มที่ผ่านมาของเถื่อน แต่ให้ดูจริงจังขึ้น

“เล่ม มะนาลีกับจูลเลย์ เราใช้เลือกรูปหิมาลัยที่ดูเหมือนถ่ายจากนอกโลกมาจับคู่กับรูปรอยัลเอนฟิลด์ พาหนะที่พาคนทั้งสองตะลุยตลอดเส้นทาง และแยกชื่อหนังสือ มะนาลี กับ จูลเลย์ ให้อยู่คนละภาพโดยมี & เป็นตัวเชื่อม อยากให้ความรู้สึกเหมือนหนังรักสักเรื่องที่มีฉากหลังเป็นเทือกเขาหิมาลัยสุดลูกหูลูกตา”

“ชื่อหนังสือคือสำนวนจีน ‘时 到 花 就 开’ แปลว่า ‘เมื่อถึงเวลา ดอกไม้จะบานเอง’ เราตีความจากชื่อเรื่องและเนื้อหา ใช้รูปดอกไม้บนปกให้มีทั้งดอกตูม ดอกบานสะพรั่ง และดอกที่ร่วงหล่นอยู่ในช่อเดียวกัน เน้นที่แมททีเรียลคือใช้พื้นผิวแบบผ้าลินิน และเคลือบฟอยล์สีขาวมุกบนกลีบดอกไม้ สัมผัสแล้วจะรู้สึกได้ถึงความประณีต เหมือนกับชื่อหนังสือที่งดงาม เรียบง่าย แต่มีพลัง”

“ส่วน เถื่อน 100 มีคอนเซ็ปต์มาแล้วว่า Serenity in Chaos หรือ จลาจลอันงดงาม (เป็นชื่อนิทรรศการภาพถ่ายของผู้เขียนด้วย) เราใช้วิธีคอลลาจหลายๆ รูปจากในเล่ม ด้านล่างของปกใช้รูปภูเขาโทนสีดำเพื่อสื่อความ Serenity หรือ เงียบสงบ ตัวอักษรของคำว่า เถื่อน ถ้าสังเกตก็จะเห็นว่าแตกต่างจากเล่มที่ผ่านมา เราพยายามให้มันมีเอกลักษณ์บางอย่างของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งประวัติศาสตร์ที่เคยทำมา”

 

วิธีการทำงานออกแบบของเธอ คือเมื่อรับบรีฟแล้วก็จะคุยกับบรรณาธิการหนังสือเล่มนั้นๆ แลกเปลี่ยนภาพความคิดในหัวของกันและกัน ถกกันจนได้ข้อสรุปก่อนจะเริ่มการออกแบบ โดยปกติระยะเวลาคิดคอนเซ็ปต์และลงมือออกแบบคือ 1 - 2 สัปดาห์ เล่มที่ใช้เวลาน้อยที่สุดคือ มะนาลีกับจูลเลย์ เนื่องจากไม่ต้องใช้ภาพประกอบ เมื่อถึงเวลา ดอกไม้จะบานเอง มีการใช้เทคนิคพิเศษและกระดาษชนิดใหม่ที่นักออกแบบไม่เคยใช้งาน ทำให้ขั้นตอนการพิมพ์ซับซ้อนมาก และ เถื่อน 100 ที่ใช้เวลานานที่สุดในสามเล่มเพราะมีการดราฟต์ปกออกมาจำนวนมาก เธอกับ Art director ของอะบุ๊กจึงจับมือทำงานด้วยกันจนออกมาลงตัวที่ปกดังกล่าว

“อะบุ๊กเป็นบ้านหลังเก่าที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจได้เสมอ ทุกคนในกองเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นช่วงเวลาสองปีกว่าที่...ถ้าเปรียบชีวิตเป็นหนังสักเรื่องก็คงเป็นพาร์ทที่ดีที่สุดพาร์ทหนึ่งที่เราได้เล่น ได้เรียนรู้ ได้เติบโตทางความคิด และมีช่วงเวลาที่น่าจดจำ”

“หนังสือสามเล่มนี้เป็นรสชาติที่หลากหลาย เรามองว่ามันเกี่ยวกับการเดินทางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะไปหิมาลัยบนเส้นทาง มะนาลีกับจูลเลย์ หรือผจญอันตรายกับ เถื่อน 100 และ เมื่อถึงเวลา ดอกไม้จะบานเอง ก็พาเราเดินทางไปข้างในจิตใจบนถนนสายชีวิตที่ไม่รู้จบ”

▪︎

ติดตามผลงานออกแบบของ 29thWinter ได้ที่อินสตาแกรม 29thwinter และเว็บไซต์ 29thwinter.wix.com/29thwinter


 
 

เมื่อมีนาคม ปี 2020 แฟนนักอ่านชาวไทยของนักเขียนชื่อดัง แดน บราวน์ ถึงกับร้องกรี๊ด! เมื่อแพรวสำนักพิมพ์เปิดตัว 'Box set หนังสือชุดโรเบิร์ต แลงดอน 5 เล่ม (ปกใหม่)' ที่ใครเห็นเอ่ยปากชมดีไซน์ที่สวยงามแตกต่างจากฉบับก่อนๆ และมีบางคนที่นำหนังสือชุดเก่าที่มีไปแลกเปลี่ยนเป็น Box set ใหม่ด้วย

 

นักออกแบบผู้ตีตราสัญลักษณ์วิทยาผ่านหน้าปกหนังสือเบสต์ เซลเลอร์เล่มนี้ คือ นุชชา ประพิณ หรือ ปัน กราฟิกสาวจากภาควิชาเรขศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งเข้ามาทำงานในวงการออกแบบปกหนังสือเพียง 1 ปี ก็ได้รับโจทย์ยักษ์ คือการออกแบบปกใหม่ นวนิยายของแดน บราวน์ 5 เล่ม พร้อม Box set ซึ่งครั้งนี้ สิ่งที่ท้าทายคือการที่ทุกเล่มต้องมีความเชื่อมโยงกัน แต่ก็ต้องแตกต่างกันด้วย 

“ตอนแรกคิดว่ายากมากเลยค่ะ เพราะหนังสือพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นฉบับภาษาไทยหรือต่างประเทศก็มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกันจนเป็นภาพจำ เราจึงไม่แน่ใจว่าจะทำฉีกออกไปได้เยอะไหม หรือที่จริงมันควรจะต้องคงเดิมไว้พอสมควรเพื่อรักษาอัตลักษณ์หนังสือ”

 

สิ่งแรกที่คุณนุชชาลงมือทำ คือการอ่านหนังสือทั้ง 5 เล่ม แม้เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาพอสมควรแต่มันทำให้เธอได้รู้จักตัวตนและจิตวิญญาณของหนังสืออย่างแท้จริงจนสามารถสร้างตัวตนออกมาเป็นรูปธรรมได้ถูกต้อง เมื่อศาสนาและความเชื่อปะทะกับความล้ำสมัย วิธีการดำเนินเรื่องรวดเร็ว ผ่านปริศนาและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เธอจึงเลือกการผสมผสานความโมเดิร์นกับความคลาสสิก โดยชูเรื่องสัญลักษณ์ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทุกเล่มมีเหมือนกัน การใช้สัญลักษณ์เป็นภาพสื่อสารหลัก (Key visual) ทำให้สามารถออกแบบแต่ละเล่มแตกต่างกันและสามารถเชื่อมโยงทุกเล่มเข้าหากันได้

“การออกแบบทั้ง 5 เล่ม รวมเวลาอ่านต้นฉบับด้วยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบทั้งหมด ดราฟต์สัญลักษณ์วางบนภาพที่เอามาย้อมสี และใส่ Texture จุดประสงค์ที่เพิ่มภาพเข้ามาคืออยากให้มันเชื่อมไปถึงหน้าปกฉบับก่อนๆ อยู่บ้าง ไม่ฉีกออกจนเกินไป ภาพที่ใช้ก็แสดงให้เห็นถึงคอนเซ็ปต์ของเนื้อหาในเรื่องด้วย ตรงสันปกเราวางซ้อนตัวสัญลักษณ์ซึ่งเป็นจุดเด่นของทั้งเนื้อหาและดีไซน์”

 

ดีไซเนอร์ทำงานของเธออย่างเต็มที่ ส่งดราฟต์ให้สำนักพิมพ์แพรวสำนักพิมพ์ เลือกจำนวน 6 ดราฟต์ ซึ่งดราฟต์ที่ถูกเลือกคือดีไซน์ที่แตกต่างจากปกเก่าเกือบจะสิ้นเชิง ในมุมของนักออกแบบ นี่คือเรื่องน่าแปลกใจและน่าประทับใจ เมื่อสำนักพิมพ์กล้าลองและเห็นคุณค่าของงานออกแบบ โดยเชื่อว่ามันคือส่วนสำคัญที่สื่อสารไปถึงคนอ่านได้

“ตอนที่เข้าไปอ่านฟีดแบ็ก เราดีใจมากที่คนอ่านเข้าใจว่าเราจะสื่ออะไรและเห็นรายละเอียดที่เราไม่คิดว่าจะมีคนเห็น ใส่ไว้เพราะรู้สึกว่าต้องใส่ เช่น สัญลักษณ์ Circumpunct ในตัว O บนปก The Lost Symbol เราดีใจและขอบคุณที่สำนักพิมพ์ให้โอกาสปกหนังสือได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ ทั้งการสื่อสารเนื้อหาและการพูดคุยกับผู้อ่าน ตอนทำสนุกมากๆ ค่ะ”

 

สิ่งที่นักออกแบบปกฝากถึงคนที่สนใจเข้าสู่โลกสัญลักษณ์วิทยาและการสืบสวนของมิสเตอร์แลงดอน คือ “ขอให้อ่านอย่างสนุก และได้สิ่งที่มากกว่าความสนุกกลับไปด้วยค่ะ”

 ▪︎

ติดตามผลงานออกแบบของคุณนุชชาได้ที่อินสตาแกรม n.u.c.h.c.h.a