ILLUSTRATING THE ILLUSTRATOR

ภาพประกอบที่สวยงามผนวกเข้ากับเรื่องราวของหนังสือเป็นสิ่งที่นำพาผู้อ่านเข้าสู่โลกของหนังสือได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำความรู้จักเหล่า ’นักออกแบบภาพประกอบ’ ผู้เบื้องหลังความสร้างสรรค์ที่มาเติมเต็มจินตนาการของหนังสือ 5 คน คือ faan.peeti, ฐ., กัญญาพัชร เจริญยิ่ง, HIRUNA, Freya.art, Kanith, Yune และ BHBH

 
 
 

เมื่อภาพประกอบที่สวยงามผนวกเข้ากับเรื่องราวของร้านหนังสือ ถือเป็นสิ่งเย้ายวนใจคนรักหนังสือและร้านหนังสืออย่างที่สุด ซึ่งเมื่อปี 2019 สำนักพิมพ์ a book ได้ออกหนังสือชื่อ London Book Sanctuary เพื่อมาล่อลวงหัวใจของเหล่าทาสหนังสือให้ไขว่คว้ามาครอบครอง

faan.peeti (ฟาน.ปีติ) หรือ ฟาน–ปีติชา คงฤทธิ์ เจ้าของคอลัมน์ Book Sanctuary ใน a day online ผู้ตะลุยกรุงลอนดอนตามหาร้านหนังสือเล็กๆ แสนมหัศจรรย์ สนทนากับเจ้าของร้านและคนหนังสือ แล้ววาดภาพร้านหนังสือนั้นๆ มาประกอบบทความด้วยฝีมือของเธอเอง ซึ่งต่อมาถูกรวบรวมและคัดสรรร้าน 15 แห่ง จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มดังกล่าว

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณปีติชาเลือกไปเรียนต่อปริญญาโท สาขา Illustration ที่ Kingston University กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งช่วงนี้เองที่เธอตะลอนแง้มบานประตูร้านหนังสือต่างๆ เพื่อทำงานเขียนคอลัมน์ สิ่งที่ทำให้เธอชื่นชอบหนังสือมาจากคุณแม่ที่อ่านหนังสือนิทานให้ฟังตั้งแต่เธอเป็นเด็กเล็กๆ เมื่อโตขึ้นก็สนับสนุนให้อ่านวรรณกรรมเยาวชน พาไปงานหนังสือ เวลาไปห้างสรรพสินค้าก็พาเข้าร้านหนังสือเป็นประจำ

“สำหรับเราหนังสือเป็นโลกแห่งจินตนาการที่รอให้เราพลิกหน้ากระดาษเข้าไปผจญภัยในนั้น ร้านหนังสือจึงเป็นเหมือนสถานที่รวบรวมโลกแห่งจินตนาการมากมายไม่รู้จบ ทำให้เรารักการเข้าร้านหนังสือตั้งแต่นั้นมา ยิ่งพอโตขึ้นเราสนใจงานภาพประกอบและงานศิลปะ ร้านหนังสือจึงเป็นเหมือนสถานที่รวบรวมงานศิลปะชั้นดี เป็นแกลเลอรี่ที่มีงานน่าสนใจหมุนเวียนมาให้เราอัพเดทความรู้ได้ไม่เบื่อ แถมบางวันยังซื้องานเหล่านั้นกลับบ้านอีกด้วย”

 

ย้อนเวลาไปในสมัยเรียนมัธยมปลาย เด็กสาวชื่อปีติชาได้เห็นภาพวาดสีน้ำของ ต้องการ-วลัยกร สมรรถกร ในนิตยสาร a day คอลัมน์ Going Places และในเวลาเดียวกันก็ได้รู้จักหนังสือภาพของ จิมมี่ เลี่ยว ศิลปินและนักเขียนชาวไต้หวัน งานของศิลปินทั้งสองทำให้เธอค้นพบว่าภาพวาดสามารถปลอบประโลมจิตใจและทำให้ผู้เสพมีความสุขมากอย่างคาดไม่ถึง ทำให้เธอเริ่มสนใจการวาดภาพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นเธอก็เริ่มหัดวาดภาพสีน้ำตามศิลปินและได้ทดลองวาดภาพด้วยเทคนิคต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้

“ฟานถนัดวาดภาพหลายสไตล์ทั้งงานวาดอะนาล็อกและดิจิตอล แต่สไตล์ที่ชอบที่สุดจะเป็นงานสานเส้นสไตล์วิคตอเรียนที่ฟานได้แรงบันดาลใจมาจากภาพประกอบหนังสือ Alice in Wonderland ส่วนปัจจุบันไม่ค่อยได้วาดภาพด้วยเทคนิคสีน้ำแล้ว แต่ก็ยังคงมีความสุขทุกครั้งที่ได้วาดภาพค่ะ”

 

หนังสือที่นักวาดภาพประกอบสาวสนใจมากที่สุดตอนนี้ คือหนังสือ Graphic novel ที่มีวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพน่าสนใจ แปลกใหม่ อาจมีเทคนิคที่น่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับงานตัวเองได้ ส่วนหนังสือศิลปะหรือการออกแบบเล่มรักเล่มหวงของเธอ คือ The Usborne Introduction to Art เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นอกจากจะอธิบายที่มาที่ไปของงานศิลปะดังๆ มากมาย คนเขียนยังเล่าเบื้องหลังความคิดของศิลปิน กระแสสังคม การเมือง และวัฒนธรรมในยุคนั้น ทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของภาพเขียนแต่ละยุคสมัยได้กระจ่างขึ้น

“เราคิดว่าสำหรับคนทำงานศิลปะ การเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลป์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การศึกษาทำให้เรารู้รากความคิดของคนในอดีตและพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เรานำความรู้ที่สั่งสมเหล่านี้มาต่อยอดในการทำงานต่อไปได้ เวลาเราทำงานจะเปิดหนังสือเล่มนี้เพื่อหาข้อมูลอ้างอิงบ่อยมาก เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ต้องมีติดโต๊ะทำงานเลยค่ะ”

 

เมื่อถามถึงร้านหนังสือใน London Book Sanctuary ที่เจ้าตัวประทับใจที่สุดคือร้านอะไร แม้เป็นคำถามที่ตอบยากมากสำหรับเธอ เพราะทุกร้านสร้างความประทับใจและเป็นความทรงจำที่ดี แต่หากต้องเลือกเพียงหนึ่งร้าน เธอเลือก Words on the Water ร้านหนังสือลอยน้ำแห่งเดียวในกรุงลอนดอน อยู่บริเวณคลองรีเจนท์ แถว Granary Square 

“เป็นร้านหนังสือแรกที่เราเริ่มเข้าไปทำความรู้จักเจ้าของร้านและนั่งสัมภาษณ์ สำหรับนักเรียนจากเอเชียที่ไปอยู่เมืองนอกตัวคนเดียว การจะก้าวข้ามกำแพงความกลัวและบุกเข้าไปสัมภาษณ์คนต่างชาติเป็นเรื่องยากมากเลย แต่หนึ่งในเจ้าของร้านหนังสือ คุณ Jonathan Privett ก็ทำให้เราเข้าใจว่าการคุยกับฝรั่งแปลกหน้าไม่ใช่เรื่องลำบากขนาดนั้น บทสนทนาที่ดีกับจอห์นในร้านหนังสือลอยน้ำทำให้เราเริ่มมีความกล้าที่จะออกไปสัมภาษณ์ร้านหนังสืออื่นๆ และทำให้เรารู้สึกว่าการได้รับรู้เรื่องราวเบื้องหลังร้านหนังสือทำให้แต่ละร้านมีเสน่ห์ขึ้นเยอะเลย”

 ▪︎

ติดตามผลงานของ faan.peeti ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก f.peeti / อินสตาแกรม faanpeeti / เว็บไซต์ faanpeeti.com


 
 

สกาลา โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่อยู่คู่ย่านสยามสแควร์กว่า 50 ปี ยุติการให้บริการอย่างถาวรในเดือนกรกฎาคม ปี 2020 สร้างความเศร้าและเสียดายแก่ผู้รักการชมภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ชาวไทยเป็นอย่างมาก เกิดปรากฏการณ์บันทึกความทรงจำ ทั้งการบอกเล่าประสบการณ์ บันทึกภาพถ่าย วีดิโอ สารคดี และบทความมากมาย ซึ่งมีบุคคลหนึ่งที่ตั้งใจผลิตหนังสือทำมือขึ้นมาเพื่อบันทึกเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ไว้ ในชื่อ SCALA Zine

ฐิตินันท์ พงษ์จารุวัฒน์ หรือ นันท์ ชื่อในวงการออกแบบว่า ‘ฐ.’ จบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการเรียนชั้นปีสุดท้ายเธอเลือกโรงภาพยนตร์สกาลาเป็นหัวข้อตัวจบการศึกษา (Thesis) ด้วยความที่เป็นคนชอบชมภาพยนตร์ และเป็นลูกค้าของโรงภาพยนตร์เครือ Apex ตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา การเปิดบริการเป็นระยะเวลายาวนานทำให้ที่นี่เป็นแหล่งรวมความทรงจำและวัฒนธรรมของคนหลายต่อหลายรุ่นเอาไว้ เธอจึงต้องการทำหนังสือรวมเรื่องราวในแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

“หลังจากจบงานแสดงธีสิส มีโอกาสได้พูดคุยกับทาง Spacebar Design Studio และมีการปรับรูปแบบเพื่อให้เหมาะกับการเป็น Zine มากขึ้น รายละเอียดการเข้าเล่มก็คราฟต์ขึ้น รวมถึงฟอนต์ที่ใช้ก็มาจากลายมือตัวเองด้วย”

SCALA Zine บันทึกเรื่องราวหลายแง่มุมของโรงภาพยนตร์สกาลา ทั้งประวัติความเป็นมา ข้อมูลอาคารและสถาปัตยกรรม เกร็ดข้อเท็จจริง และบทสัมภาษณ์ของคนทำงานของสกาลาและผู้ชม ใช้ระยะเวลาทำประมาณ 5 - 6 เดือน ด้วยเทคนิคการวาดมือผสมกับงานดิจิตอล

ส่วนตัวแล้ว คุณฐิตินันท์เป็นคนที่ชื่นชอบภาพยนตร์ จึงสะสมสิ่งพิมพ์ เช่น Booklet (หนังสือพับเล่มเล็ก) หรือ Handbill (ใบปลิวประชาสัมพันธ์) ของภาพยนตร์ที่ชอบ โดยเล่มที่เธอชอบเป็นพิเศษนั้นได้มาจากร้านขายของเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ประเทศญี่ปุ่น

“เป็น Booklet ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Hana and Alice ค่ะ กำกับโดย ชุนจิ อิวาอิ ด้านในจะรวมฉากต่างๆ ของภาพยนตร์ไว้ และมีกิมมิคที่แต่ละหน้าสามารถกางออกมาเพิ่มได้อีก”

 

แรงบันดาลใจที่ทำให้คุณฐิตินันท์ชื่นชอบการวาดภาพและการออกแบบ มาจากวัยเด็กที่ชอบการดูการ์ตูนแล้วทดลองวาดตาม เมื่อวาดได้ดีจึงเริ่มฝึกฝนมาเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น สิ่งที่ส่งอิทธิพลต่อผลงานของเธอมาจากสื่อต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง หรือหนังสือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังช่วยจุดประกายให้เธออยากสร้างงานศิลปะต่อไป 

“สไตล์ผลงานจะไม่ตายตัวค่ะ แต่ปรับตามความเหมาะสมของแต่ละงาน จุดเด่นคิดว่าเป็นความเนี้ยบและเรื่องราวในภาพ ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ยังคงเป็นงานวาดด้วยมือมากกว่างานดิจิตอลค่ะ”

 ▪︎

ติดตามผลงานของ ฐ. ได้ที่อินสตาแกรม t.roomm


 
 

ภาพประกอบ (lllustration) เป็นการสื่อสารเรื่องราวด้วยการเขียนภาพลายเส้น (Graphic) ซึ่งสิ่งที่ช่วยกำหนดการเขียนภาพกราฟิกและภาพประกอบให้เป็นไปตามแนวทาง คือ การออกแบบภาพสื่อสาร หรือ Visual design นั่นเอง

แนท–กัญญาพัชร เจริญยิ่ง Visual designer มากความสามารถ ผู้ออกแบบโบรชัวร์สินค้าไปจนถึงดูแลทิศทางงานศิลป์ให้คอลเลคชั่นของแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์เน้นด้านการวาดภาพประกอบ การออกแบบกราฟิก และการกำกับงานศิลป์ มีประสบการณ์ร่วมงานกับองค์กร สินค้า และสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Jim Thompson, Pomelo, Chang Beer, a day magazine และ Wallpaper* magazine

 

จากความสามารถในการออกแบบที่ครอบคลุมทั้งการทำภาพประกอบ (Illustration), การออกแบบกราฟิก (Graphic design), การนำเสนอข้อมูลด้วยกราฟิก (Infographic), การออกแบบแนวคิด (Concept design), การออกแบบภาพสื่อสาร (Visual design) และการกำกับงานศิลป์ (Art direction) แต่งานที่คุณกัญญาพัชรถนัดที่สุด คือ Illustration

“ถ้าเลือกว่าชอบอะไรที่สุดอาจจะเลือกไม่ถูก เพราะงานแต่ละด้านเราเอนจอยหมด เป็นคนขี้เบื่อด้วยแหละ ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ชอบสำรวจอะไรใหม่ๆ แล้วงานหรือโปรเจคแต่ละชิ้นมันก็มีอะไรใหม่ให้เรียนรู้ตลอด”

 

สไตล์ผลงานของดีไซเนอร์คนนี้ ในด้าน Visual หรือภาพ อาจพูดได้ว่าไม่มีสไตล์ที่ตายตัว เพราะต้องปรับตามกลุ่มเป้าหมายและแบรนด์ โดยเฉพาะกราฟิกและการกำกับงานศิลป์ เพราะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดและคอนเซ็ปต์ของงานนั้นๆ ส่วนด้าน Illustration หรือภาพประกอบ ผลงานของเธอแสดงให้เห็นสไตล์ได้ค่อนข้างชัดเจนกว่า

“อาจจะเป็นเพราะเราทำมานานกว่าอย่างอื่น แล้วปกติงานที่ติดต่อให้ทำงานภาพประกอบจะสนใจลายเส้นของเราเป็นหลัก ซึ่งสไตล์ที่วาดบ่อยๆ คืองานที่มีรายละเอียดประณีต การเล่นกับเลเยอร์หมึก และความเป็น Pattern ค่ะ”

 

แรงบันดาลใจให้นักออกแบบคนนี้สนใจด้านศิลปะหรือการออกแบบ คือวิชาศิลปะสมัยชั้นประถม ครูประจำวิชาที่ใจดี ให้เด็กได้เล่นกับสื่อกลางหลากหลาย และเปิดรับแนวทางให้เด็กได้ทำอะไรใหม่ๆ เธอจึงรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้เข้าชั้นเรียน จนกระทั่งทุกวันนี้เธอก็ยังอยากกลับไปเข้าชั้นเรียนกับครูท่านนั้นอีกส่วนหนังสือศิลปะหรือการออกแบบเล่มรักเล่มหวงของเธอ Azimuth: Catalog Third Printing ของ James Jean รวมงานของศิลปินในปี 2016-2018 พร้อมภาพสเก็ตต่างๆ และภาพจากนิทรรศการ Azimuth ปี 2018 

“James เป็นหนึ่งในศิลปินที่ชอบมากอยู่แล้ว และที่หวงเป็นพิเศษเพราะเล่มนี้ต้องใช้ความพยายามในการจองกว่าจะได้มาค่ะ (ฮา) พอเปิดขายหนังสือก็จะหมดเร็วมาก เราตั้งใจซื้อเล่มนี้ตั้งแต่พิมพ์แรกก็จองไม่ทัน จนมาจองได้ในรอบพิมพ์ 3 นี่ละ”

 ▪︎

ติดตามผลงานของแนท กัญญาพัชร ได้ที่อินสตาแกรม natkunyapat / เว็บไซต์ kunyapatch.com / เว็บไซต์ cargocollective


photo credit.
- Key visual & Concept งาน Mid Year Sale & End of Year Sale 2019 ของ Jim Thompson
- ภาพประกอบคอลัมน์ a day magazine 235 ฉบับ Instant Noodle Culture


 
 

หนึ่งในสิ่งที่เสริมให้กระแสวรรณกรรมคลาสสิกญี่ปุ่นของสำนักพิมพ์ JLIT ฮือฮาและได้รับความนิยมในกลุ่มนักอ่านวัยรุ่นอย่างคาดไม่ถึง คือ ปกแจ็คเก็ตการ์ตูนภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่น โดยโปรเจคนี้เกิดขึ้นจากการปรับโฉมให้หนังสือเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น และ Illustrator ที่ได้รับหน้าที่สร้างสรรค์ปกก็คือ HIRUNA

 

ณัฎฐณิชา กระจ่างวงษ์ คือชื่อของนักวาดภาพประกอบ นามว่า HIRUNA บัณฑิตจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์วาดภาพประกอบ การมาร่วมงานกับสำนักพิมพ์เจลิตนั้นมาจากการชักชวนของคุณอรรถ บุนนาค หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ซึ่งรู้จักกันอยู่แล้วเพราะเคยร่วมงานกันมาก่อน 

“ตอนที่เขาตั้งสำนักพิมพ์ก็ติดต่อมาว่าอยากให้วาดปกนิยายเป็นแจ็คเก็ตการ์ตูนแบบ Limited สำหรับการเก็บสะสม เขาอยากให้มาออกมามีความญี่ปุ่น ฉันตอบตกลงเพราะว่าอยากลองทำแนวอื่นๆ นอกจากปกนิยายรักดูบ้าง หลังจากนั้นก็รับผิดชอบวาดปกแจ็คเก็ตผลงานของดะไซ โอซามุ ค่ะ”

 

Limited jacket เล่มแรก คือ สูญสิ้นความเป็นคน ก่อนเริ่มการสร้างสรรค์ภาพทางสำนักพิมพ์จะส่งงานแปลให้นักวาดอ่านเพื่อความเข้าใจก่อนที่จะลงมือวาดออกมา นักวาดเลือกใช้ฉากร้านเหล้าที่ตัวเอกคือ ดะไซ โอซามุ ชอบไปเที่ยวเป็นตัวสื่อสาร โทนสีน้ำตาลและม่วงทำให้บรรยากาศดูอึมครึม พิศวง ไม่น่าวางใจ และรู้สึกอันตราย เธอตั้งใจให้โอซามุหันมาสบตากับคนดู ซึ่งเมื่อสบตาก็จะรู้สึกเหมือนถูกล่อล่วงให้เข้าหาชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์คนนี้ ส่วนปกแจ็คเก็ตในวาระฉลอง 110 ปีชาตกาล สำนักพิมพ์บรีฟว่าต้องการให้เธอวาดท่านั่งเหมือนกับรูปถ่ายจริงของดะไซ โอซามุ และเสริมตัวละครหญิงไปในภาพด้วย

 

เล่มต่อมา เมียชายชั่ว นักวาดทำการสเก็ตภาพของผู้หญิงบนปกไว้หลายภาพ ด้วยความที่เป็นผู้หญิงเหมือนกับตัวเอกทำให้เธอมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ การเลือกอะไรไม่ได้เพราะสถานะทำให้รู้สึกถึงความน่าอึดอัดเหมือนกำลังถูกบีบคอให้ทำเรื่องต่างๆ เพื่อจะมีชีวิตอยู่เท่านั้น ปกนี้จึงใช้จัดองค์ประกอบที่แสดงถึงความโดดเดี่ยว สีหน้าสิ้นหวัง และใส่ Symbolic ของดอกฮิกันบานะ หรือดอกลิลลี่สีเลือด ลงไปในภาพเพื่อเปรียบกับชีวิตที่เสมือนการตกนรกทั้งเป็น

และ อาทิตย์สิ้นแสง เรื่องราวของคุณแม่และลูกสาวที่ชีวิตมีทั้งรสหวานและขม เรื่องไม่ได้ชวนหดหู่ (เมื่อเทียบกับเรื่องก่อนๆ ของโอซามุ) แต่ก็ไม่ได้อบอุ่นละมุนละไม เล่มนี้สำนักพิมพ์กำหนดพื้นหลังของภาพให้เป็นสีของยามเย็นตามชื่อเรื่อง

“ฉันวาดให้ลูกสาวถือกระเป๋า หมายถึงเธอได้เดินทางไปมีชีวิตของตัวเอง แต่สุดท้ายก็มีคุณแม่ที่อยู่เบื้องหลังคอยปลอบใจ ชีวิตของเธอเหมือนกุหลาบ มันมีทั้งเรื่องราวที่สวยงามและอุปสรรคขวากหนาม”

 

เมื่อถามถึงหนังสือศิลปะหรือการออกแบบที่เล่มรัก-เล่มหวง คุณณัฎฐณิชาเขียนรายการหนังสือไม่ได้เพราะเธอรักและหวงทุกเล่มที่ซื้อมา หลายเล่มมีราคาสูงและบางเล่มก็หายาก แต่รายชื่อแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอสนใจศิลปะหรือการวาดภาพนั้นมีหลายบุคคลทีเดียว เริ่มจากเหล่าอาจารย์นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นทั้งหลาย ซึ่งอิทธิพลในลายเส้นช่วงเริ่มต้นของเธอได้รับมาจากกลุ่มนักวาดการ์ตูน CLAMP และ Nardack แต่ปัจจุบันเธอศึกษาและเรียนรู้สไตล์ภาพที่หลากหลายขึ้น ทั้งจาก มัตซึโอะ ฮิโรมิ นักวาดแนว Retro-Modern, Little Thunder นักวาดการ์ตูนเนว Surrealist, Alfonse Mucha ศิลปินแนว Art Nouveau และ J. C. Leyendecker นักวาดภาพประกอบชื่อดัง เชื้อสายเยอรมัน-อเมริกัน ซึ่งล้วนมีฝีมือการวาดแบบร่วมสมัย มีรายละเอียด และมีความเป็นแฟชั่นสูง

“ผลงานของฉันจริงๆ แล้วคือการวาดหญิงสาวที่ให้ความรู้สึกน่าหลงใหล สไตล์และสีสันค่อนข้างสดใสนุ่มนวลนะคะ”

 

แม้ HIRUNA จะยืนยันว่าสไตล์การวาดภาพของเธอที่จริงนั้นต่างจากงานวาดภาพประกอบปกหนังสือที่เราได้เห็น แต่เชื่อเถอะว่า ต่อให้สดใสหรือเศร้าโศกเธอก็สามารถล่อลวงเราให้หลงเสน่ห์ภาพวาดที่สวยงามของเธอได้แน่นอน

 ▪︎

ติดตามผลงานของ HIRUNA ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก HIRUNA / ทวิตเตอร์ hiruna454 / อินสตาแกรม hiruna454


 
 

หากพูดถึงนักวาดภาพประกอบแนว Botanical Art หรือภาพวาดพฤกษศาสตร์ธรรมชาติ ต้องมีชื่อของ Freya.art อย่างแน่นอน ด้วยลายเส้น สีสัน รายละเอียด และฝีมือของนักวาดที่สร้างสรรค์ภาพที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาน่าหลงใหล ผลงานของเธอส่วนใหญ่ปรากฎให้เห็นบนบรรจุภัณฑ์สินค้า แพทเทิร์นผ้า เครื่องประดับแฟชั่น และเสื้อผ้าแฟชั่นกว่า 10 แบรนด์

 

Freya.art ชื่อในการออกแบบของ ฝ้าย–กชกร โซ่สายคำ ดีไซเนอร์สาวจากคณะมัณทนศิลป์ ภาควิชาประยุกต์ศิลป์ศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ฝีมือการวาดภาพของเธอสวยงามและโดดเด่นจนได้ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำมากมาย อาทิ Pomelo, Louis Vuitton, Kate Spade, NY, Tiffany & Co., Disaya, Kiss Me Doll, Wila, Zoe Scarf, Amaffi Perfume, iCONiC, Kiss Me Doll, La Doctress, S&P, Beat Brewing, Lake Coloring App (EU), Prima Marketing (USA) และ Apple Inc. และปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท FREYA ILLUSTRATIONS ATELIER ผลิตงานภาพประกอบและเริ่มผลิตสื่อการสอนออนไลน์

 

คุณกชกรได้รับแรงบันดาลในการสร้างสรรค์งานศิลปะและการออกแบบจาก 2 สิ่ง สิ่งแรก คือ สิ่งมีชีวิตและธรรมชาติ เธอชื่นชมรูปทรงและสีต่างๆ ที่เป็นแบบฉบับของธรรมชาติ เมื่อเธอพบเห็นพืชพันธุ์ที่น่าสนใจก็จะสังเกตรูปทรง สี และเส้นรายละเอียดต่างๆ แล้วนำจุดเด่นมาถ่ายทอดให้ชัดเจนขึ้นผ่านลายเส้น ส่วนอีกสิ่งหนึ่ง คือ ลูกค้า สำหรับเธอลูกค้าเป็นตัวแปรสำคัญมากในการทำงาน เพราะนักออกแบบต้องฟังไอเดียของลูกค้า

“ลูกค้ารู้จักกลุ่มเป้าหมายตัวเอง และรู้ว่าต้องการงานไปทำอะไร เพราะนั่นคือแบรนด์เขา ธุรกิจเขา ฉะนั้นเขาย่อมรู้ดีกว่าเรา มีหลายครั้งที่ลูกค้าก็เป็นคนนำไอเดียใหม่ๆ มาให้ฝ้าย ซึ่งเวลาที่เอางานของฝ้ายกับไอเดียของลูกค้ามาเจอกัน เป็นเรื่องที่สนุกมาก”

คุณกชกรหลงใหล Botanical Art เพราะสำหนับเธอดอกไม้และพืชพันธุ์ไม้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่มีงานศิลปะอยู่เต็มไปหมด ดอกไม้แต่ละดอกมีความสวยงามแตกต่างกันไปมีรายละเอียดให้หยิบมาใช้สร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ ฉะนั้นสไตล์งานของเธอจึงเป็น Naturalistic Art และ Botanical Art เพื่อเคารพความสวยงามของรูปทรงที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้นมา แน่นอนว่าหนังสือเล่มรัก-เล่มหวงของเธอต้องเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ธรรมชาติแน่นอน เล่มนั้นคือ The Natural History Book: The Ultimate Visual Guide to Everything on Earth ของสำนักพิมพ์ Dorling Kindersley หนังสือรวมภาพและข้อมูลของธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตทั้งทางธรณีวิทยาและชีววิทยาบนโลกรวมแล้วกว่า 5,000 สปีชีส์

 

เนื่องจากนักออกแบบเป็นทั้งนักวาดภาพประกอบ นักออกแบบกราฟิก และนักออกแบบลายผ้า จึงมีโอกาสทำงานบนวัสดุที่หลากหลาย แต่วัสดุที่เธอชื่นชอบที่สุดก็ยังคงเป็นของพื้นฐานอย่าง กระดาษ แม้ว่าตอนนี้จะนิยมใช้งาน iPad มากกว่า 

“บนกระดาษชอบวาดสีน้ำประกอบกับสีไม้ที่สุด แต่ตอนนี้ชอบวาดบนไอแพดเพราะมันพกได้ง่าย เส้นดี น้ำหนักถึง และด้วยความที่มันเป็นดิจิตอลจึงทำให้เราสามารถแก้ไขงานได้ เก็บรายละเอียดได้มากกว่า ซึ่งตอบโจทย์ในแง่ของการทำงาน Commercial มาก ...แต่ถ้ามีโอกาสไม่ต้องทำงานแล้ว คงจะกลับไปหากระดาษ แล้วสร้างงานใหญ่ๆ แน่นอนค่ะ”

▪︎

ติดตามผลงานของ Freya.art ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก freya.artss / อินสตาแกรม freya.arts / ช่องยูทูป Freyaart


 
 

‘ภาพวาดคนสีหน้านิ่งเฉย ไร้อารมณ์ อยู่กับสิ่งของที่ดูแปลกประหลาดหรือผิดที่ผิดทางในฉากสีสด ชวนให้รู้สึกกระอักกระอ่วน’ น่าจะเป็นคำบรรยายที่พอจะทำให้เห็นรูปแบบภาพวาดของ Kanith ได้อยู่บ้าง นักวาดภาพประกอบผู้โดดเด่นในการวาดภาพคนด้วยคาแรคเตอร์ที่มีเอกลักษณ์ติดตา เมื่อบวกกับความหมายที่สื่อสารอยู่ในงาน ทำให้ Illustrator คนนี้ถูกพูดถึงและมีผลงานให้เห็น (ปุ๊บรู้ปั๊บว่า Kanith) อยู่เรื่อยมา

 

Kanith คือชื่อในวงการออกแบบของ กนิษฐรินทร์ ไทยแหลมทอง หรือ เล่ นักออกแบบสาวจากคณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต พ่วงด้วยปริญญาโทจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์วาดภาพประกอบ (Illustrator) และนักออกแบบภาพการ์ตูนและภาพเคลื่อนไหว (Animator)

 

คุณกนิษฐรินทร์เป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กและไม่เคยหยุดวาด ตั้งแต่เด็กจนโต เธอเลือกเส้นทางสายศิลปะเพราะเป็นสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลิน หนังสือด้านการออกแบบเล่มแรกที่เธอซื้อหนังสือ คือ Penguin by Design: A Cover Story 1935-2005 ของ Phil Baines เป็นเรื่องราวการออกแบบปกหนังสือของสำนักพิมพ์ Penguin Books ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่เล่มที่เมื่อย้ายไปไหนเธอก็จะเอาไปด้วยเสมอ เมื่อต้องเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาจึงเลือกสาขาที่เกี่ยวกับศิลปะ แต่ปรับความเพลิดเพลินเป็นความเอาจริงเอาจังหลังจากเรียนจบปริญญาโท

“เราคิดว่าที่เราชอบวาดรูปเพราะมันเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้เราได้แก้ไขสิ่งต่างๆ เราเป็นคนชอบวิจารณ์อยู่แล้ว เราเลยชอบเวลาเราได้ควบคุมเรื่องราวหรือรายละเอียด แบบว่า...เอาไอ้นั่นออก เอาไอ้นี่เข้า ลองเอาไอ้นี่ไปอยู่กับไอ้นั่น อะไรประมานนี้”

 

นอกจากการงานวาดภาพประกอบ คุณกนิษฐรินทร์ยังเคยมีนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยว Made By Microwave ที่วิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนความวุ่นวายซับซ้อนของวิถีชีวิตและธรรมเนียมในครอบครัว กับความสะดวกสบายสำเร็จรูปในสังคมร่วมสมัย รวมทั้งเคยวาดภาพประกอบปกหนังสือกับ a book Publishing อยู่หลายเล่ม เมื่อเธอได้ออกแบบปกหนังสือ เรื่องชาวบ้าน ของสำนักพิมพ์อะบุ๊ก ภาพวาดของเธอก็ชวนให้อมยิ้มกับการแสดงท่าทางสอดรู้ของกลุ่มคนที่มีสีหน้านิ่งเฉยแบบ ‘กนิษๆ’ ซึ่งคอนเซ็ปต์เล่มนี้ คือ ความอยากรู้อยากเห็นเรื่องชาวบ้าน บรรณาธิการบรีฟโจทย์ให้เธออย่างดีและยังมีแบบสเก็ตให้เห็นภาพที่ต้องการ และให้เธอขยายไอเดียเพิ่มขึ้นมาเอง

“อะบุ๊กติดต่อเข้ามาในอินบ็อกซ์ทางเฟซบุ๊กค่ะ อยากให้มาวาดปก หนังสือเล่มนี้มันเป็นอารมณ์ตลกเสียดสีที่ยังต้องดูเป็นมิตรอยู่ เลยลองเอาคนหลายๆ อาชีพมายืนรวมกันฟังเรื่องชาวบ้าน”

 

คำถามข้อเดียวที่นักวาดตอบอย่างไม่เต็มปากนัก คือ การนิยามสไตล์งานของตัวเอง “สไตล์งานของเรา ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคืออะไร (หัวเราะ) ขอเรียกตัวเองว่าเป็น Semi realistic แกว่งๆ กับสีป๊อปๆ แล้วกัน”

▪︎

ติดตามผลงานของ Kanith ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก khunkanith / อินสตาแกรม kanithrin / เว็บไซต์ kanith.myportfolio.com


 
 

เมื่อพูดถึงนักวาดภาพประกอบและกราฟิกดีไซเนอร์ชาวไทยที่โดดเด่นด้านภาพประกอบแนวทิวทัศน์ โครงสร้าง และบรรยากาศ แบบ 2 มิติ มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ผลงานของเธอปรากฎมากมายทั้งภาพประกอบบทความ ปกอัลบั้มเพลง ปกหนังสือ กราฟิกบนผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

 

Yune คือชื่อในการทำงานดีไซน์ ของ ยูณ–พยูณ วรชนะนันท์ กราฟิกดีไซเนอร์จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะไปศึกษาต่อที่ Tama Art University เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังเรียนจบก็ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ที่นั่นยาวนานกว่า 12 ปี ปัจจุบันงานหลักของเธอ คือ การวาดภาพประกอบ โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ที่ญี่ปุ่น แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้เธอจึงกลับมาอยู่บ้านที่ประเทศไทย

 

จากประสบการณ์ทำงานกับลูกค้าหรือองค์กรญี่ปุ่นของคุณพยูณ วัฒนธรรมการทำงานที่เด่นชัด คือ การโฟกัสในสิ่งที่ถนัด หากไม่ถนัดก็จะจ้างมืออาชีพมารับผิดชอบ โดยเคารพและให้เกียรติความเห็นของคนทำงานมืออาชีพ การคอมเมนท์งานจะเน้นความเป็นตรรกะ การแสดงความเห็นต่อผลงานจึงชัดเจนและกระชับ ไม่ใช้ความรู้สึกของคนใดคนหนึ่งมาตัดสินงาน ซึ่งทำให้ผลงานที่สำเร็จนั้นมีประสิทธิภาพ

“คนญี่ปุ่นมีการวางตารางงานที่เป๊ะมาก ช่วยให้เราจัดการชีวิตได้เป็นอย่างดี จ่ายเงินโดยโอนเข้าบัญชี ระบบญี่ปุ่นมันดีตรงที่ใครโอนเงินมา เราเห็นชื่อใน Book bank เลย ไม่ต้องเดา ไม่ต้องเดินทางไปรับเช็ค”

 

สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจคุณพยูณให้สนใจศิลปะหรือการออกแบบไม่ใช่แค่สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสนใจ ผู้คนรอบตัว งานอดิเรก หรือจังหวะชีวิต เธอเล่าว่าตั้งแต่เด็ก ชีวิตของเธอมีจังหวะให้ไหลไปทางอื่นอยู่ตลอด แต่สุดท้ายแล้วหลายๆ ปัจจัยก็ทำให้เธอไหลกลับมาทางด้านศิลปะทุกที

“จริงๆ เราชอบทำอะไรหลายอย่างนะ ลองนู่นนี่นั่นไปเรื่อย แต่ที่ทำคล่องจนคิดว่าเชี่ยวชาญนั้นมีแค่ไม่กี่อย่าง การวาดรูปเป็นสิ่งที่พอจะพูดได้ว่าเชี่ยวชาญอยู่บ้าง ซึ่งปัจจุบันสไตล์การวาดหรือการออกแบบค่อนข้างยืดหยุ่น เปลี่ยนได้เรื่อยๆ ตามอายุและประสบการณ์ จึงไม่อยากใช้คำจำกัดความกับงานตัวเองสักเท่าไหร่”

 

ผลงานที่ทำให้ชื่อเสียงของ Yune ฮอตขึ้นมา คือ ภาพประกอบปกแจ็คเก็ตวงฮิปฮอปชื่อดัง Ketsumeishi (เค็ทซึเมชิ) ของญี่ปุ่น และภาพประกอบหรือหน้าปกนิตยสารชั้นนำของญี่ปุ่นมากมาย รวมถึงการออกแบบและวาดภาพประกอบปกหนังสือหลายเล่ม เช่น MOSTLY CLOUDY มีเมฆเป็นส่วนมาก และ BE RIGHT BACK หายไปที่อื่น ของสำนักพิมพ์ Salmon ฯลฯ โดยพ็อกเก็ตบุ๊คที่ได้รับเสียงชื่นชมภาพประกอบปกล่าสุด คือ มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ (コンビニ人間) ของสำนักพิมพ์ Animag เมื่อคุณพยูณรู้ว่าหนังสือเล่มนี้ (ซึ่งเคยผ่านตาเธอในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นมาแล้ว) ได้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทย เธอจึงไม่พลาดตอบรับงานวาดภาพประกอบทันที

“เรื่องไอเดียปกก็จะสรุปกันกับผู้ออกแบบปกก่อน แล้วส่งตรวจกันเป็นระยะๆ คอนเซ็ปต์ที่เสนอไปแล้วผ่านเลย คือ หลุมดำ การทำงานร้านสะดวกซื้อแล้วเจอผู้คนสารพัดทั้งดีและดาร์ก ก็ไม่ต่างจากหลุมดำของจักรวาลนั่นแหละ มีอะไรอยู่ในนั้นบ้างก็ไม่รู้ แถมยังจะดูดเราลงไปในนั้นอีกต่างหาก”

 

กราฟิกดีไซเนอร์สาวเป็นคนหวงหนังสืออย่างมาก เล่มสุดรักที่ทำหายและทำพังไม่ได้ เพราะชีวิตนี้เธอคงไม่ซื้ออีกแล้ว คือ Charley Harper: An Illustrated Life โดย Todd Oldham ของสำนักพิมพ์ AMMO Books (2007) ฉบับ Jumbo size ขนาด 17.3 x 12.2 นิ้ว น้ำหนักเกือบ 6 กิโลกรัม เป็นหนังสือรวมผลงานของ Charley Harper นักวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนังสือราคาสูงที่สุดเท่าที่เธอเคยมี โดยเก็บเงินจากการทำงานพิเศษไปซื้อเมื่อตอนที่ยังเป็นวัยนักเรียน

“เราอยากได้มาก Charley Harper เป็นศิลปินที่วาดภาพธรรมชาติออกมาเป็นกราฟิกได้โดยที่ไม่ได้แตะคอมฯ เลย ฉะนั้นการได้เปิดดูเล่มใหญ่ๆ มันสะใจมาก ส่วนเล่มอื่นๆ ก็หวงหมด เวลาใครมาที่บ้านแล้วจะเปิดหนังสือดู เราจะแอบชายตามองตลอดเวลา (ฮา)”

▪︎

ติดตามผลงานของ Yune ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก yunepage / อินสตาแกรม y_u_n_e / เว็บไซต์ yune.tokyo

Photo credit.
- ©️Forbes Japan magazine
- สำนักพิมพ์ ©️animag
- ©️Ketsumeishi (ケツメイシ) และ ©️avex trax


 
 

นักวาดภาพประกอบชาวไทยที่ร่วมงานกับสื่อและสิ่งพิมพ์ชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศนับไม่ถ้วน BHBH (Bloody Hell Big Head) ผู้วาดภาพประอบบนปกหนังสือ POPEYE ของสำนักพิมพ์อะบุ๊ก อีกทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และแบรนด์มากมาย เช่น Ellemen Magazine, WIRED Magazine, Zeit Magazine, Why Magazine, Cubes Magazine, Mac App Store, Oppo Reno, ideo, Siam Paragon, Lufthansa Airline, It’s Nice That ฯลฯ

 

ธนวัต ศักดาวิษรักษ์ หรือ เบนซ์ กราฟิกดีไซเนอร์จากคณะออกแบบนิเทศศิลป์ เอก Graphic Design มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปัจจุบันทำงานกราฟิกดีไซน์ให้สตูดิโอออกแบบ และเป็นฟรีแลนซ์งานวาดภาพประกอบด้วย จากประสบการณ์การทำงานออกแบบกับต่างประเทศและไทยนั้น ในเรื่องทั่วๆ ไปไม่แตกต่างกันมากนัก แต่จุดที่คุณธนวัตประทับใจ คือ วิธีการทำพรีเซนต์และการบรีฟงาน 

“เวลาเราทำงานกับต่างประเทศ เขาใส่ใจรายละเอียดการบรีฟมาก แบบว่าไม่ต้องโทรคุยหรือแชทไลน์ อ่านทีเดียวรู้เรื่อง ทำงานได้เลย”

 

ก่อนหน้าที่ BHBH จะทำงานภาพประกอบข้ามแดน อย่างในปัจจุบัน คุณธนวัตได้ทำภาพประกอบให้กับปกหนังสือ POPEYE ของ a book Publishing ซึ่งถือเป็นช่วงแรกของการเริ่มทำงานวาดภาพประกอบ คอนเซ็ปต์ของงาน คือ เน้นใช้สีสันแบบ Pop art เป็นหลัก

 “ตอนนั้นน่าจะเป็นสมัยที่ทำอยู่อะบุ๊ก เป็นช่วงที่ทำงานกับคุณเบนซ์ (Bopitr V) เหมือนว่าเขาจะเจอผลงานเราผ่านทางเว็บไซต์ behance แล้วติดต่อมาให้ลองวาด หนังสือเล่มนี้สื่อสารถึงเรื่อง Pop culture ลักษณะงานจึงออกแบบให้เข้าถึงเนื้อหาได้ไม่ยาก ตรงไปตรงมา”

 

Diversity หรือ ความหลากหลาย คือนิยามสไตล์ผลงานของ BHBH ในช่วงเริ่มต้น เขาทำงานออกแบบด้วยการใช้รูปทรงเรขาคณิต ต่อมาก็พัฒนาเป็นภาพฉากเหตุการณ์หรือพื้นที่ (Scene or Space) จากนั้นคือการเติมเต็มผลงานด้วยการบรรจุเรื่องราวเข้าไป คล้ายกับการตกแต่งห้องเปล่าหนึ่งห้องที่ใส่เฟอร์นิเจอร์เพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้พื้นที่นั้นมีความสมบูรณ์หรือสามารถสะท้อนเรื่องราวได้ด้วยตัวเอง โดยแรงบันดาลใจในการวาดรูปหรือการออกแบบของคุณธนวัตนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลาว่าเขากำลังรู้สึกกับอะไร

“สำหรับผมมันไม่มีตายตัวสักเท่าไหร่ บางครั้งมันเป็นได้ทั้งคนที่เรายกย่อง เป็นสถานการณ์ หรืออารมณ์ ทุกอย่างสามารถเป็นวัตถุดิบในการทำงานได้เสมอ”

 

ส่วนหนังสือศิลปะหรือการออกแบบที่เป็นเล่มรักเล่มหวงของกราฟิกดีไซเนอร์คนนี้ มี 3 เล่ม ซึ่งพอจะทำให้มองเห็นสไตล์งานออกแบบที่เขาให้ความสนใจ คือ New Engineering การ์ตูนภาพโดย Yuichi Yokoyama, ว่าด้วยการออกแบบที่สั่นสะเทือนวงการโดย Memphis กลุ่มสถาปนิกนานาชาติ, Memphis Research, Experiences, Results, Failure and Successes of New Design โดย Barbara Radice และ DIE WANDLUNGEN (The Metamorphoses) หนังสือรวมภาพกราฟิก ช่วง ค.ศ.1975 - 1979 โดย David Weiss

 ▪︎

ติดตามผลงานของ BHBH ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก BHBH / อินสตาแกรม bloodyhellbighead / เว็บไซต์ bloodyhellbighead.com

 

photo credit.
- ‘Twitter’ for Mac App Store
- Zeit Magazine 2017
- GQ Magazine
- POPEYE โดย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ สำนักพิมพ์อะบุ๊ก