บันทึกเสวนา The Type Designer บุคลิกของตัวอักษร

BBF2015_Article_The Type Designer-1.jpg

วันที่ 19 กรกฎาคม 2015 งานเทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ได้จัดเสวนา ‘The Type Designer บุคลิกของตัวอักษร: การออกแบบงานอักขรศิลป์’ วิทยากรรับเชิญ ได้แก่ อนุทิน วงศ์สรรคกร และศิริน กันคล้อย (บริษัท คัดสรร ดีมาก จำกัด) ดำเนินรายการโดย ณัฐจรัส เองมหัสสกุล แห่งสตูดิโอไดอะล็อก

อนุทิน ผู้ซึ่งมีประสบการณ์จากบริษัทคัดสรร ดีมาก เป็นเวลาถึง 14 ปี เป็นบริษัทที่ผลิตทั้งแบบอักษรขายปลีก (Retail font) และแบบอักษรที่ออกแบบเฉพาะองค์กร (Custom font) ได้กล่าวว่าช่วงหลังๆ ทางบริษัทได้เพิ่มบทบาทเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่สถาบันการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่นักออกแบบตัวอักษรกำลังทำ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหามาก

อนุทินกล่าวว่าหากเป็นสมัยก่อน รูปแบบตัวอักษรอาจไม่ซับซ้อนนักเพราะเจาะจงพิมพ์ในสื่อกระดาษ แต่ปัจจุบันแบบอักษรเหล่านี้ถูกนำไปใช้งานบนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ จึงต้องมีคุณสมบัติที่ตอบสนองต่อระบบ และต้องคำนึงถึงความหนาบางของตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอซึ่งมีแสงฉายจากด้านหลัง เขากล่าวว่าแบบอักษรไทยจะต้องเริ่มสร้างมาตรฐานให้เข้ากันกับภาษาอื่นๆ เพราะลำพังภาษาไทยมีผู้ใช้งานเพียงหกสิบล้านคน นักออกแบบตัวอักษรจึงต้องเริ่มเรียนรู้ Script ของภาษาอื่น เพื่อออกแบบสัดส่วนตัวอักษรไทยตามมาตรฐานและแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับเทคนิคการพิมพ์ปัจจุบัน

ตัวอักษรบางแบบทำให้เราอ่านช้า การจัดช่องไฟชิดๆ กันทำให้อ่านรวดเร็ว มักนำมาใช้ในการพาดหัวข่าว แต่หากนำวิธีดังกล่าวมาใช้ในเนื้อความ ก็จะทำให้อ่านเร็วเกินไปจนไม่มีสมาธิในการจับใจความ
— ศิริน กันคล้อย

"ตัวอักษรคือภาพแทนเสียง" ศิรินกล่าวนิยามง่ายๆ แล้วยกตัวอย่าง Garamond แบบอักษรละตินที่ใช้มานับร้อยๆ ปี ตั้งแต่ยุคเรียงพิมพ์ (Letterpress) จนถึงปัจจุบัน พร้อมแยกแยะความแตกต่างระหว่างคำว่า Typeface และ Font ซึ่งฟังดูเหมือนๆ กัน หากแต่แท้จริงแล้วคำแรกมีความหมายว่า "แบบตัวอักษร" แต่คำหลังหมายถึง "แบบตัวอักษรที่ถูกจัดการให้ใช้งานได้" และยังมีความหมายของคำว่า Typography ซึ่งหมายถึง “การจัดวางตัวอักษร” แต่ Type design หมายถึง “การออกแบบตัวอักษร” เหล่านี้เป็นศัพท์ที่คนนอกแวดวงอาจใช้ปนกันเพราะไม่เข้าใจ

ศิรินอธิบายต่ออีกว่าในสมัยยุคเรียงพิมพ์ ฟอนต์หนึ่งฟอนต์จะมีเพียงหนึ่งขนาดเพราะแบบตัวอักษรเพียงแบบเดียวก็ต้องใช้แป้นตะกั่วจำนวนมากและหนักจนต้องหิ้วกันเป็นกระเป๋า สะท้อนความยากลำบากในการใช้งานฟอนต์ในสมัยนั้น แต่ในปัจจุบันที่มีฟอนต์ให้ใช้งานหลากหลาย เราจะเลือกมาใช้ในแต่ละงานได้อย่างไร

อนุทินได้ตอบกลับทันทีว่า นี่เป็นสิ่งที่เป็นปัญหามากๆ เพราะนักออกแบบหลายคนยังคงใช้วิธีเลือกฟอนต์แบบเลื่อนตาม Font menu ลงมาเรื่อยๆ เพื่อลองฟอนต์หลายๆ แบบ ซึ่งเป็นวิถีที่ไม่ควรเกิดกับดีไซเนอร์ "เมื่อรู้แล้วว่าจะทำอะไร ก็ต้องรู้ว่าจะใช้ฟอนต์ตัวไหน หนาหรือบาง ขนาดเท่าไร"

เขาชี้ว่าปัญหาเหล่านี้อาจพบได้ตามสื่อโฆษณาที่เราพบเห็นอยู่ทุกวันซึ่งสร้างปัญหาให้กับองค์กรผู้จ้างทำโฆษณาไม่น้อย สำหรับเขา การออกแบบก็เหมือนการทำอาหาร ต้องนึกส่วนผสมให้ชัดเจนก่อนลงมือทำ ฟอนต์เองก็ไม่ต่างจากเนื้อหมูที่อยู่ในข้าวผัดหนึ่งจานซึ่งนักออกแบบจะดึงคุณสมบัติฟอนต์ต่างๆ มาใช้งานได้ถูกต้องก็ต่อเมื่อมีองค์ความรู้เรื่องฟอนต์มากพอ เช่น รู้ต้นกำเนิดของฟอนต์นั้นๆ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการใช้ฟอนต์ที่ผิดความหมาย

เมื่อนักออกแบบรู้ว่าตนเองกำลังทำงานอะไร ก็ต้องเลือกใช้งานฟอนต์ที่มีต้นกำเนิดสัมพันธ์กับลักษณะของงาน เหมือนกับที่ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนีใช้ในการเลือกฟอนต์แต่ละแบบในรถไฟใต้ดินของแต่ละประเทศ จนกลายเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของชาติ หรือเรียกว่า ตัวอักษรสร้างชาติ

การออกแบบก็เหมือนการทำอาหาร ต้องนึกส่วนผสมให้ชัดเจนก่อนลงมือทำ
— อนุทิน วงศ์สรรคกร
อนุทิน วงศ์สรรคกร

อนุทิน วงศ์สรรคกร

เพื่อปูพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้เรื่องฟอนต์ ศิรินให้ดูภาพประกอบของครอบครัวตัวอักษรหรือตระกูลฟอนต์ ซึ่งมีองค์ประกอบบางอย่างแตกต่างกัน อาทิ ความหนาของการเดินเส้น แต่ที่สุดแล้วฟอนต์เหล่านี้ก็คือบุคคลคนเดียวกันที่พูดออกมาด้วยหลายสำเนียง การใช้อักษรตัวหนา หรือตัวเอียง ก็ถือเป็นการใส่น้ำเสียงข้อความ เช่น ตัวหนาอาจเป็นการตะโกน จึงถูกนำมาใช้เน้นข้อความสำคัญที่ต้องการให้สะดุดตา นอกจากนี้ ฟอนต์อาจถูกแบ่งใน Type classifications เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ Serif และ Sans serif ซึ่งหมายถึงมีเชิงฐานและไม่มีเชิงฐาน ตามด้วยการอธิบายลักษณะและที่มาของฟอนต์ต่างๆ

อนุทินกล่าวต่อว่า การแบ่งตัวอักษรละตินจะค่อนข้างเป็นระบบเนื่องจากมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการประชุมกันเพื่อแบ่งหมวดหมู่ตามลำดับเวลา แต่ฟอนต์ภาษาไทยยังสับสน แบ่งเพียงคร่าวๆ ว่าเป็นฟอนต์มีหัวกลมหรือไม่มีหัวกลม ซึ่งอาจต้องโทษนักออกแบบตัวอักษรด้วยว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดประเภทตั้งแต่แรก ทำให้ผู้นำฟอนต์ไปใช้งานก็สับสนและไม่เข้าใจที่มา นำไปใช้อย่างผิดๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น

ศิริน กันคล้อย

ศิริน กันคล้อย

ศิรินกล่าวว่านอกจากความหมายของฟอนต์และต้นกำเนิดแล้ว ชั้นเชิงของการใช้ตัวอักษรยังช่วยกำหนดบุคลิกและอารมณ์ของเนื้อความด้วย ตัวอักษรบางแบบทำให้เราอ่านช้า การจัดช่องไฟชิดๆ กัน ทำให้อ่านรวดเร็วจึงมักนำมาใช้ในการพาดหัวข่าว แต่หากนำวิธีดังกล่าวมาใช้ในเนื้อความก็จะทำให้อ่านเร็วเกินไปจนไม่มีสมาธิในการจับใจความ จึงต้องหาระยะช่องไฟที่เหมาะสม ไม่ห่างหรือชิดเกินไป รวมทั้งช่องว่างระหว่างบรรทัด (Leading: มาจากการใช้แผ่นตะกั่วแทรกระหว่างบรรทัดในสมัยเรียงพิมพ์) ที่บางคนเข้าใจผิดว่าไม่ต้องห่างกันมากก็ได้ แต่กลับส่งผลให้อ่านลำบาก

นี่เองคือบทบาทของฟอนต์ที่ส่งผลว่าเราจะอ่านงานเขียนนั้นๆ ราบรื่นหรือไม่ โดยที่ผู้อ่านก็อาจไม่ทันสังเกต ถือเป็นการบ้านที่นักออกแบบตัวอักษรต้องทำความเข้าใจ และนักจัดวางตัวอักษรก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและเนื้องาน

นอกจากการบรรยายตามสถานศึกษา ปัจจุบัน อนุทินยังเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องอักขรศิลป์ผ่าน anuthin.org และจัดพิมพ์หนังสือสรุปการบรรยายภายใต้สำนักพิมพ์ คัดสรร ดีมาก รวมทั้งแปลหนังสือ Stop Stealing Sheep ซึ่งเป็นตำราพื้นฐานของนักออกแบบเป็นภาษาไทย ซึ่งนักเรียนการออกแบบทั่วโลกต่างเคยใช้ประกอบการเรียนมากว่าสองทศวรรษแต่กลับไม่เคยแปลเป็นภาษาไทยมาก่อน ซึ่งอนุทินมองว่านี่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจในวงการออกแบบไทย

ในงานนี้ผู้ร่วมเสวนายังได้รับ Specimen ฉบับย่อ แสดงผลงานการออกแบบตัวอักษรจาก คัดสรร ดีมาก เป็นที่ระลึกกันไปคนละเล่มอีกด้วย

 

เรื่อง: เวีย สุขสันตินันท์
ภาพ: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ