ชีวิตที่ไม่ต้องร่างของ ช่วง มูลพินิจ

ผ่านเข้ามาในรั้วบ้านย่านบางกะปิ ต้นไม้เขียวแซมอยู่หลายจุด ผุดไม้ดอกประดับประดาอยู่ริมรั้ว แม้จะไม่ถึงกับร่มรื่นเพราะเป็นหน้าร้อน แต่ก็พอทำให้ชุ่มฉ่ำสายตา ที่นี่เป็นทั้งบ้านและหอศิลป์ของคุณช่วง มูลพินิจ ซึ่งเราอาจจะรู้จักท่านในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) มีผลงานเส้นสายลายไทยประยุกต์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

หากมีโอกาสได้ขึ้นไปชมหอศิลป์ ช่วง มูลพินิจ ก็จะได้เห็นผลงานที่มีความประณีตและบรรจุความคิดล้ำลึกลงลวดลาย จน ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยกล่าวชมคุณช่วงว่าเป็น “จิตรกรที่เห็นมดยิ้มสวย” ส่วนในแวดวงสิ่งพิมพ์ คุณช่วง มูลพินิจได้ฝากผลงานภาพประกอบและภาพปกไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำเป็นอาชีพ แต่ก็เป็นที่จดจำและตามหากันในหมู่นักสะสมหนังสือ

จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คุณช่วงเข้าบรรจุเป็นข้าราชการรับเงินเดือนประจำอยู่ที่ศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม แล้วมีโอกาสเริ่มต้นเข้ามาทำงานหนังสือจากการเขียนรูปลง หนุ่มเหน้าสาวสวย ของสุจิตต์ วงษ์เทศ กับ ขรรค์ชัย บุนปาน ไม่นาน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ชักชวนให้มาเขียนภาพลายเส้นประกอบหนังสือ สยามสมัย ต่อมาได้เขียนภาพลายเส้นลงในหนังสือและนิตยสารต่าง ๆ เช่น ช่อฟ้า, ชาวกรุง, เฟื่องนคร และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์  ซึ่งคุณช่วงมองว่าเป็นเพียง ‘ภาพประดับ’ นั่นคือการแทรกภาพดอกไม้ใบไม้ลงไปบนที่ว่างในหน้ากระดาษตามแต่อารมณ์ศิลปินของตน โดยไม่มีโจทย์เคร่งครัดคอยบังคับ แม้ได้สร้างผลงานมากมายบนเส้นทางนี้ เขาก็ยืนยันว่าไม่ใช่งานที่ทำเป็นอาชีพ

“ผมไม่สามารถทำตามความต้องการของตลาดได้ ทำแต่งานที่ผมถนัดเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นความจำกัดในความสามารถเฉพาะ จึงไม่อาจสนองความต้องการของคนทั่วไปได้ เขาเลยต้องสนองความสามารถเท่าที่มีของผม”

คุณจินดารัตน์ มูลพินิจ ผู้เป็นภรรยา หยิบหนังสือออกมาสิบกว่าเล่มวางบนโต๊ะ หน้าปกยังสะอาดเรียบร้อยดี มีรอยตำหนิเล็กน้อยที่ขอบมุม ส่วนผิวกระดาษนั้นออกน้ำตาลหม่นตามกาลเวลาที่ล่วงมากว่า 40 ปี เหล่านี้เป็นงานออกแบบปกที่โดดเด่นของคุณช่วง ได้แก่ หนังสือของคุณ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2512 เช่น เสเพลบอยชาวไร่ สนิมสร้อย ผู้มียี่เกในหัวใจ ฯลฯ ความโดดเด่นคือลายเส้นที่วาดแบบไม่มีการร่าง (ฟรีแฮนด์) จากปลายปากกาสำหรับเขียนแบบซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของคุณ‘รงค์ คุณช่วงจึงฝากผลงานวาดปกของพญาอินทรีไว้หลายต่อหลายเล่ม งานดังกล่าวมีเอกลักษณ์ที่คล้ายกันคือเรือนร่างเปลือยเปล่าของหญิงสาวท่ามกลางพื้นหลังธรรมชาติ ลายเส้นหนักแน่นทว่าแสดงถึงความพลิ้วไหวไม่สะดุดอยู่บนภาพนิ่ง

“หนังสือบางปกเช่น สนิมสร้อย ว่าด้วยเรื่องราวของผู้หญิงหากิน ผมวาดในลักษณะที่ตัวผมเห็นว่ามันงาม มันสวย คำว่า อิโรติก เป็นคำจากฝรั่ง ไม่ใช่งานที่วาดได้ง่ายๆ ทำไม่ได้ก็กลายเป็นภาพลามกไป รูปคนแก้ผ้าถ้าไม่มีศิลปะอยู่ในนั้นก็จะกลายเป็นอุจาด”

BBF2015_Article_Chuang Moolpinit-3
ใบหน้าสงบนิ่ง ประดับเรียวเคราสีงาช้างนั้นส่งสายตาหนักแน่น

ใบหน้าสงบนิ่ง ประดับเรียวเคราสีงาช้างนั้นส่งสายตาหนักแน่น

กระบวนการทำงานเริ่มจากการวาดลายเส้นลงไปในกระดาษ ทั้งรูปวาดและแบบตัวอักษรบนปกสำเร็จออกมาเป็นรูปขาวดำ จากนั้นส่งให้โรงพิมพ์นำไปกัดลายทำบล็อกตะกั่ว ช่างโรงพิมพ์ตั้งเครื่องจักรผสมสี่สีออกมาทาทาบบนปกหนังสือตามส่วนที่กำหนดไว้ แต่ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัย ลายเส้นที่ออกมาจึงไม่ค่อยคมชัด รายละเอียดอาจไม่มากเท่างานวาดต้นฉบับ

ความอิโรติกยังปรากฏในผลงานปกหนังสืออีกหลายเล่มของ อุษณา เพลิงธรรม ในลักษณะการลงสีน้ำเพิ่มเข้าไปจากงานวาดลายเส้นปกติ ส่งผลให้ภาพเกิดสีสันนวลเนียน ขับเน้นเรื่องราวส่งจินตนาการผู้อ่านตามชื่อบนปกหนังสือ เช่น พรูควั่งถั่งนรกแลสวรรค์ ตราบเดือนตะวันฟั่นฟ้าแลดิน ฯลฯ ที่ตีพิมพ์ออกมาไล่เลี่ยกันในช่วงปี 2512 - 2513

ตราบเดือนตะวันฟั่นฟ้าแลดิน นักเขียนใช้ภาษาสวย ต้องอาศัยการตีความ อารมณ์ของภาพคือการพรั่งพรูหลั่งไหลของอารมณ์ การร่วมสังวาสผู้หญิงกับผู้ชาย เกาะเกี่ยวฟั่นกันไปมาเหมือนเชือก ไปสู่ทั้งนรกแลสวรรค์ เหมือนบทอัศจรรย์ในวรรณคดี งานแบบนี้ถือเป็นศิลปะ จัดเป็น Erotic art ส่วนงานเขียนก็ประพันธ์อย่างมีวรรณศิลป์”

นอกจากศิลปะของการเขียนภาพแล้ว คุณช่วงยังพูดถึงศิลปะของการประพันธ์หนังสือที่เขาจับสังเกตจากลายมือของนักเขียนยุคก่อนว่า

“นักเขียนสมัยก่อนมีลายมือแตกต่างกัน ช่างเรียงพิมพ์ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะตน อย่างคุณคึกฤทธิ์ลายมือสวย คุณมาลัย ชูพินิจ ลายมือหวัดเพราะเขียนเร็ว ส่วนลายมือคุณ ’รงค์ จะอ่านง่าย แกเป็นคนละเอียดหลายชั้น ทำงานด้วยดินสอ ยางลบ พิมพ์ดีด ลักษณะนี้เรียกว่างานประพันธ์ของแท้ คือแต่งหนังสือเพื่อให้สละสลวย”

ระหว่างบทสนทนา เรามองทอดสายตาไปที่โต๊ะวาดเขียนที่ลาดเอียงและอยู่ในมุมสงบ หันหน้าสู่หน้าต่าง มองออกไปเห็นสวนหน้าบ้าน เราเอ่ยถามว่า ศิลปินคนไทยหรือต่างชาติท่านใดหรือ  ที่บันดาลใจให้เกิดลายเส้นทรงเสน่ห์ที่เป็นลายเซ็นของช่วง มูลพินิจ

“ผมได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว ต้นไม้ใบหญ้ารอบบ้านของผม คือธรรมชาติที่แท้ บรรดารถยนต์ เครื่องบิน รถไฟ ไม่สามารถกระตุ้นความรู้สึกอยากจะเขียนของผมออกมาได้”

แม้จะคลุกคลีทำงานภาพแก่วรรณกรรม แต่คุณช่วงกลับมีมุมมองต่อวรรณกรรมส่วนใหญ่ทุกยุคสมัยของโลกว่ามักเป็นเรื่องกระตุ้นกิเลสตัณหา ทำให้จิตใจผิดไปจากปกติซึ่งมักเป็นที่ชอบของมนุษย์ ส่วนวรรณกรรมที่ช่วยยกระดับจิตใจผู้อ่านกลับไม่ค่อยเป็นที่สนใจ

“ผมไม่ชอบอ่านหนังสือเท่าไร โดยเฉพาะหนังสือที่เราไม่ค่อยหลงใหล แต่หนังสือ เสเพลบอยชาวไร่ ของคุณ’รงค์ ที่ผมเขียนเพราะมีเนื้อหาบางส่วนพ้องกับชีวิตบ้านนอกของผม หนังสือทั้งเล่ม เราอาจจะไปเจอเพียงประโยคเดียวที่ประทับใจก็สามารถเอามาทำงานเขียนรูปได้แล้ว”

BBF2015_Article_Chuang Moolpinit-2

หลังจากทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมนาน 9 ปี คุณช่วง มูลพินิจ ลาออกมาเริ่มงานใหม่ที่บริษัทโฆษณาอีก 3 ปี หลังจากนั้นก็ผันมาเป็นศิลปินอิสระเต็มตัวโดยที่ไม่เคยมองงานวาดเขียนเป็นงานอาชีพที่ต้องรับจ้างทำ

“เราทำงานของเรา แล้วคนอื่นเห็นประโยชน์ของมัน ผมคิดว่ามันเป็นความต้องการที่บริสุทธิ์กว่าการวาดรูปตามที่คนอื่นเขาสั่ง เพราะหากทำตามเขาสั่ง ถ้าไม่ได้อย่างใจเขาก็อาจไม่ได้อย่างใจเราเหมือนกัน ป่วยการทำตามใจคนอื่น”

ทุกวันนี้คุณช่วงใช้เวลาอยู่ที่บ้านร่วมกับภรรยาและทำงานศิลปะส่วนตัวอย่างเงียบๆ คอยดูแลหอศิลป์ซึ่งเปิดไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เสมอ ชายวัยอาวุโสยิ้มอ่อน ก่อนแสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายว่า…

ขี้เกียจจะดีเสียกว่า ปล่อยเวลาให้สะอาดดีกว่าใช้เวลาไปเร่งทำงานหาเงิน ชื่อเสียง คำสรรเสริญ อย่าทำให้เวลาในชีวิตสกปรกไปด้วยความต้องการ
— ช่วง มูลพินิจ
 

เรื่อง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล, ธนาคาร จันทิมา
ภาพ: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ