บันทึกเสวนา The Cover Designer ความสร้างสรรค์ของนักออกแบบปกหนังสือ

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2015 ในงานเทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 มีงานเสวนาน่าสนใจอย่าง ‘The Cover Designer ความสร้างสรรค์ของนักออกแบบปกหนังสือ’ ซึ่งเชิญนักออกแบบปกหนังสือรุ่นใหญ่ที่มีผลงานมาแล้วนับพันปกอย่างคุณทองธัช เทพารักษ์ มาสนทนากับคนทำปกรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีผลงานน่าจับตาอย่างคุณกรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล หรือ เบิ้ม แห่ง Wrongdesign โดยมี แสตมป์ – อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ศิลปินหนุ่มสุดฮอต ผู้จบมาทางสายออกแบบและเคยมีหนังสือเป็นของตัวเองมาแล้วเป็นผู้ดำเนินรายการ บทสนทนาตลอดเวลาชั่วโมงครึ่งของนักออกแบบทั้งสองจะเผยความลับหลังปกหนังสือ ทั้งกระบวนการคิดและการทำงาน ตลอดจนคำแนะนำสำหรับนักออกแบบปกให้ผู้ฟังได้ขำและคิดไปพร้อมกัน

ช่วงแรกของการเสวนา คุณทองธัชชี้ให้เห็นถึงความยากและความท้าทายของการออกแบบฟอนต์หรือรูปแบบตัวอักษรภาษาไทยที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากกว่าภาษาอังกฤษ อีกทั้งการจัดวางตัวอักษรลงบนปกหนังสือจะต้องคำนึงถึงความเป็นเอกภาพและรูปแบบทางภาษา เช่น การเว้นวรรคหรือการตัดคำ ซึ่งอาจมีผลต่อความหมายได้ ดังนั้นคนทำปกหนังสือต้องมีความรู้ด้านภาษาและเป็นนักอ่านอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ในโลกยุคก่อนการมาถึงของคอมพิวเตอร์และโปรแกรม Photoshop การออกแบบปกอาศัยความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าที่เราคิด เพราะต้องใช้วิธีถ่ายเอกสารภาพปกแล้วลงสี ขณะที่โรงพิมพ์สมัยก่อนใช้ระบบการพิมพ์ออฟเซ็ต 4 สีพื้นฐาน ทำให้นักออกแบบต้องกำหนดความเข้มของแต่ละสีอย่างแม่นยำ เพื่อให้ภาพปกมีสีและรายละเอียดตรงตามที่ต้องการ คุณทองธัชเล่าว่าถึงกับต้องพกกล้องส่องเหมือนเซียนพระเพื่อตรวจดูเม็ดสีกันเลยทีเดียว (ไม่นับการโดนช่างเพลทประจำโรงพิมพ์แช่งชักหักกระดูกตลอดกระบวนการอันพิถีพิถันนี้)

การจัดวางตัวอักษรลงบนปกหนังสือจะต้องคำนึงถึงความเป็นเอกภาพและรูปแบบทางภาษา เช่น การเว้นวรรคหรือการตัดคำ ซึ่งอาจมีผลต่อความหมายได้ ดังนั้น คนทำปกหนังสือต้องมีความรู้ด้านภาษาและเป็นนักอ่านอีกด้วย
— ทองธัช เทพารักษ์

ส่วนขั้นตอนการทำงานของคุณกรมัยพล ประการแรกคือต้องอ่านหนังสือเสียก่อน นอกจากนี้ การพบปะกับนักเขียนก็มีส่วนช่วยให้เข้าใจและถ่ายทอดแนวคิดในหนังสือเล่มหนาออกมาเป็นหน้าปกหนึ่งเดียวที่ต้องตาต้องใจนักอ่านได้ ธรรมชาติของหนังสืออาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ หนังสือประเภท Non-fiction ที่มีเนื้อหาชัดเจนว่าจะเล่าเรื่องอะไร กับหนังสือประเภท Fiction ที่เน้นเรื่องจินตนาการและความรู้สึกมากกว่า ว่าแล้ว ตัวอย่างภาพปกที่กรมัยพลออกแบบก็อวดโฉมบนจอ ทั้งหน้าปกบุ๊คกาซีนอย่าง October ที่เขาใช้สีสันหลากหลายเรียงร้อยกันเพื่อสื่อธีมหลักว่าด้วยประชาธิปไตย หรือใช้ภาพจ่าเฉยเป็นตัวแทนของความยุติธรรมแบบไทยๆ ได้อย่างเจ็บแสบ สำหรับงานออกแบบปกเรื่องแต่ง คุณกรมัยพลทดลองใช้เทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ภาพประกอบ เช่น การใช้น้ำเปล่าในการวาดภาพ หรือไม่ก็หันไปเลือกแบบอักษรที่เข้ากับยุคสมัยตามเนื้อเรื่องในหนังสือ บางกรณี ทางสำนักพิมพ์อาจจะมีภาพประกอบปกมาให้เสร็จสรรพ แต่ก็เป็นโจทย์ยากที่นักออกแบบต้องจัดวางภาพเหล่านั้นลงบนปกอย่างชาญฉลาดด้วยเช่นกัน

หน้าปกคือการสื่อสารกับคนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ที่เรารู้สึกไม่ชอบก็อาจเป็นเพราะหน้าปกนั้นไม่ได้คุยกับเราก็เป็นได้
— กรมัยพล ศิริมงคลรุจิกุล

ทองธัช เทพารักษ์

กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล

เมื่อถามถึงทิศทางของกราฟิกดีไซน์ยุคใหม่ คุณทองธัชเห็นว่างานออกแบบปกในปัจจุบันจะต้องใช้ความคิดเป็นหลัก งานศิลปะที่ดีควรเป็นงานที่แสดงทั้งฝีมือและกึ๋นของผู้สร้าง แต่ในบ้านเราเต็มไปด้วยผลงานที่ขายฝีมือเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อินเทอร์เน็ตสามารถส่งภาพปกหนังสือจากทั่วทุกมุมโลกถึงบ้านนักออกแบบได้ในพริบตา แบบที่ไม่ต้องเสียเวลาขอดูแค็ตตาล็อกจากร้านหนังสือเหมือนแต่ก่อน คนทำปกในยุคนี้จึงมีโอกาสเรียนรู้และหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ อยู่เสมอ คุณทองธัชเสริมถึงวงการหนังสือไทยด้วยว่า ไม่เพียงแค่นักออกแบบที่มีความสำคัญ แต่คนขายหนังสือที่รู้จักนำเสนอหนังสือแต่ละเล่ม รวมถึงนักเขียนที่ขายงานของตัวเองเป็นและรู้จักเลือกนักออกแบบปกก็มีบทบาทต่อความเป็นไปของหนังสือเล่มหนึ่งๆ ไม่แพ้กัน ทั้งนี้ นักออกแบบรุ่นเก๋ากล่าวติดตลก(ร้าย)ว่า เวลาหนังสือขายดี คนมักจะยกย่องเนื้อหาข้างใน แต่เวลาหนังสือขายไม่ได้เป็นอันต้องโทษปกทุกที

มาถึงคำถามที่ตอบยากอย่าง “ปกหนังสือที่ดีควรเป็นอย่างไร” คุณกรมัยพลตอบได้อย่างน่าสนใจว่าปกหนังสือมีอยู่เพียง 2 ประเภท นั่นคือปกที่เราชอบกับปกที่เราไม่ชอบ จริงอยู่ที่หน้าปกหนังสือที่ดีควรดึงดูดใจนักอ่าน แต่ท้ายที่สุดแล้วการวิเคราะห์ว่าอะไรดีหรือไม่ดีอาจจะเป็นเรื่องยากเกินไป เพราะหน้าปกคือการสื่อสารกับคนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ที่เรารู้สึกไม่ชอบก็อาจเป็นเพราะหน้าปกนั้นไม่ได้คุยกับเราก็เป็นได้ หนังสือเป็นสื่อที่ไม่มีเสียงแต่ปกจะช่วยพูดให้เราได้ยินในใจว่า ‘ช่วยหยิบฉันมาดูหน่อย’ ดังนั้น หน้าที่ของนักออกแบบคือการรับผิดชอบต่อเนื้อหา บรรณาธิการ นักเขียน และผู้อ่าน และการสื่อสาร-ส่งเสียงผ่านปกซึ่งสามารถช่วยชีวิตยอดขายได้อย่างรูปธรรม

ทิ้งท้ายกับคำแนะนำสำหรับนัก(อยาก)ออกแบบปกหนังสือ ข้อแรกคือ ‘จงลงมือทำมันออกมา!’ หมดเวลาสำหรับข้ออ้างแล้ว เพราะตอนนี้มีพื้นที่อวดฝีมือและโอกาสสำหรับทุกคน อีกข้อคือ ‘จงเป็นนักอ่าน’ ตามด้วยการเป็นคน ‘ซุกซนทางความคิด’ ที่คิดนอกกรอบ คิดทุกแง่มุม แต่รู้จักเลือกใช้ความคิดที่ดีในการทำงาน ปิดท้ายด้วยคุณสมบัติ ‘มือบอน ช่างทดลองอยู่เสมอ

ฟังแล้วไม่ได้เป็นเพียงคำแนะนำสำหรับคนทำปกเท่านั้น แต่รวมถึงคนทำงานสร้างสรรค์ทุกประเภทที่เราพยักหน้าเห็นด้วยและปรบมือดังๆ ให้ พร้อมกับไฟในการทำงานที่กำลังลุกโชน

 

เรื่อง: จันทร์อัมพร เงินศรีสิทธิ์
ภาพ: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
(บทความนี้ใช้ร่วมกับ papercuts.co)