ผลงานแปลเล่มโปรด ของ ประโลม บุญรัศมี

แนะนำผลงานแปลโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาและวรรณคดีโปรตุเกส มีประสบการณ์ด้านการสอนในสถาบันอุดมศึกษาและการแปลกับสำนักพิมพ์ไทยหลายแห่งมาอย่างยาวนาน

ผลงานแปลที่รองอาจารย์ ดร. ประโลม บุญรัศมี ชื่นชอบ 5 เล่ม ได้แก่

1. Que raio de professora sou eu? ฉันเป็นครูพรรค์ไหนกันเนี่ยะ (สำนักพิมพ์บลิส พับลิชชิ่ง พ.ศ. 2547)

บันทึกไม่ประจำวันเรื่องการสอน นักเรียน ความใฝ่ฝัน และความรักของลาวร่า ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาวบราซิลวัย 33 ประพันธ์โดยฟานนี อะบราโมวิช (Fanny Abramovich) นักการศึกษา นักจิตวิทยา และครู การสร้างตัวละครและการคัดสรรประเด็นมาบันทึกสนุกชวนติดตาม รูปประโยคไม่สมบูรณ์บันทึก คำศัพท์รุ่มรวย น้ำเสียงการเล่าเรื่องโดยผู้หญิงอาชีพเป็นครู สนุกชวนติดตาม เข้าใจหัวอกและเปิดโลกผู้แปลและบรรณาธิการที่เป็นนักการศึกษาและรู้จักสภาพสภาพปัญหาการศึกษาในระบบของประเทศไทยที่เหมือนจะไม่แตกต่างจากของประเทศบราซิลจากบันทึกของครูลาวร่า “ฉันเป็นครูพรรค์ไหนกันเนี่ยะ” เป็นหนึ่งในหนังสือคัดสรรจำนวนห้าเล่มสำหรับโครงการวรรณกรรมแปลนานาชาติสำหรับเยาวชนและวัยรุ่นปีที่ 4 จัดพิมพ์โดยมูลนิธิดำรงชัยธรรม หนังสือแปลได้รับการผลิตเป็นอักษรเบรลล์ ผู้แปลทราบจากผู้อ่านเป็นผู้พิการทางสายตา เธอเป็นรุ่นน้องโรงเรียนมัธยมปลาย เธอบอกว่าเรื่องนี้สนุก เธออ่านแล้วชอบมาก หนังสือเรื่องนี้ขาดตลาด สมควรได้รับการพิมพ์ซ้ำเป็นอย่างยิ่ง

2. The Alquimist ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน (สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2547, พิมพ์ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2564)

ใช้นามแฝง กันเกรา นวนิยายสร้างชื่อของเปาโล คูเอลญู (Paulo Coelho) นักเขียนชาวบราซิล เรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจและเปลี่ยนชีวิตผู้แปล ให้เลิกวิจิกิจฉา หันมามุมานะตั้งใจ เอาดีทางด้านภาษาโปรตุเกส ปล่อยภาษาฝรั่งเศสวิชาเอกที่ร่ำเรียนมาไปชั่วคราว ให้ผู้แปลกล้าลงทุนทั้งเงินและเวลา และยอมแลกความมั่นคงกับภาษาโปรตุเกส ภาษาที่สามที่ยังไม่เป็นที่นิยมและยังไม่ใช้ภาษาทำเงิน กล้าฝันเป็นนักแปลเพราะแปลงานแล้วมีความสุข ได้อยู่กับตัวเอง ค้นพบตัวเอง รู้จักตัวเอง กล้ารับงานแปลเพื่อท้าทายตัวเองและเพื่อสะสม “ประสบการณ์” คำแนะนำสั้นๆ แต่ทรงพลังที่ผู้แปลได้รับจาก อ. วัลยา วิวัฒนศร อาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสของผู้แปล “ขุมทรัพย์สุดปลาย” ใช้จินตนาการเป็นตัวนำ Paulo Coelho ประพันธ์โดยใช้รูปประโยคและคำศัพท์ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่เสนอสาส์นที่ค่อนข้างยากสำหรับผู้แปลในวัยที่ยังไม่มีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณถึงระดับของสาสน์ หากมีโอกาสก็อยากจะแก้ไขสำนวนแปล ส่วนตัวอยากแนะนำให้ทุกคนอ่าน “ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน”

3. 11 Minutes สิบเอ็ดนาที (สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2548 พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564)

นวนิยายกึ่งสารคดีตีแผ่ชีวิตโสเภณีในกรุงเจนีวา ประพันธ์โดยเปาโล คูเอลญู (Paulo Coelho) นักเขียนชาวบราซิลเปิดโลกการแปลนวนิยายอีโรติกและท้าทายความสามารถของผู้แปลในการถ่ายทอดบทอัศจรรย์จากภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาไทย ผู้แปลคุ้นเคยกับภาษาของนักเขียนท่านนี้เป็นทุนเดิมแต่ต้องเพิ่มคลังคำ ก่อนลงมือแปลจึงได้อ่านคอลัมน์มติชนสุดสัปดาห์และนวนิยายเรื่อง “แรงราคะ” โดย คุณนิวัติ กองเพียร ด้านการตอบรับ ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จำได้ว่าวันเปิดตัวหนังสือนักวิจารณ์วรรณกรรมชายทักทายว่า “ผมนึกว่าคุณประโลมเป็นผู้ชายและมีประสบการณ์เที่ยว...เป็นผู้หญิงหรอกเหรอครับ” และหลายปีต่อมาได้รับคำชมจาก อ. จงจิต อรรถยุกติ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย รวมทั้งปฏิกริยาของเพื่อนๆ และคนรู้จักที่เคยอ่านอีกหลายคน เมื่อได้กลับมาอ่านอีกครั้งในวัยกลางคน ผู้แปลรู้สึกอิ่มเอมยังไงบอกไม่ถูก ส่วนตัวยอมรับ “สิบเอ็ดนาที” เปลี่ยนมุมมองผู้แปลเรื่องเซ็กส์มากพอสมควร ในอนาคตผู้แปลกับบรรณาธิการมีโครงการจะคัดสรรวรรณกรรมอีโรติกบราซิลหรือโปรตุเกสมานำเสนอผู้อ่านชาวไทย

4. A Fada Oriana โอรีอานา นางฟ้าหลงเงา (สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2554)

เทพนิยายประพันธ์โดย Sophia de Mello Breyner Andresen กวีเอกของโปรตุเกสที่สนใจประเด็นการเมืองและสังคม ต่อสู้เพื่อล้มล้างระบบเผด็จการ ต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม เทพนิยายสำหรับเด็กของกวีหญิงท่านนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม Sophia ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นนักประพันธ์คลังคำน้อยแต่สามารถสื่อสารได้มากด้วยพรสวรรค์ความเป็นกวี “โอรีอานา นางฟ้าหลงเงา” เหมือนกับเทพนิยายเรื่องอื่นๆ คือเขียนโดยใช้โครงสร้างประโยคง่ายๆ แต่บางท่อนบางตอนเหมือนร้อยกรอง การแปลดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย ผู้แปลต้องรู้จักเลือกเฟ้นถ้อยคำเพื่อสร้างบรรยากาศชวนฝันดั่งเทพนิยายท่วงทำนอง จังหวะ และเสียงดนตรีซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานเขียนสำหรับเด็กที่มุ่งให้ผู้ปกครองอ่านให้เด็กเล็กฟังเหมือนนิทานก่อนนอน ผู้แปลอยากกลับไปแปลใหม่และถ่ายทอดความงามของภาษาและคุณค่าของสาสน์ของเทพนิยายเรื่องอื่นๆ ของ Sophia ให้คนไทยอ่าน เพราะรูปแบบการประพันธ์ คุณธรรมและจริยธรรมมีความเป็นสากลและไม่ล้าสมัย เรื่องนี้แปลคราวเฉลิมฉลอง 500 ปีความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส

5. Vamos aquecer o sol ต้นส้มแสนรัก ขอให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงอีกครั้ง (แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2566)

การได้แปลวรรณกรรมเยาวชนต่อจากเรื่อง “ต้นส้มแสนรัก” ผลงานของโจเซ่ เมอโร เดอ วาสคอนเซลอส (Jose Mauro de Vasconcelos) เรื่องนี้เป็นการทำความฝันของนักแปลภาษาโปรตุเกสให้เป็นจริง เพราะ “ต้นส้มแสนรัก” เป็นวรรณกรรมเยาวชนในดวงใจของคนวัยผู้แปล ภาษาต้นฉบับ “ต้นส้มแสนรัก ขอให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงอีกครั้ง” แปลยาก ทั้งโครงสร้างประโยค ศัพท์ สำนวน และบริบทสังคมวัฒนธรรม การแปลต้องระดมความรู้ทางด้านอักษรศาสตร์ ครุศาสตร์ และทฤษฎีจิตวิเคราะห์และจิตบำบัด ศาสตร์สุดท้ายเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมความคิดของตัวละครที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและกำลังก้าวพ้นความเจ็บปวดจากบาดแผลที่ยากจะเยียวยาในวัยเด็ก ในฐานะผู้แปลที่ทำงานกับบรรณาธิการคนเดียวมาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการแปลต่อเนื่องและยาวนาน ผู้แปลได้แสดงให้บรรณาธิการเห็นว่านักเรียนแปลตลอดชีวิตคนนี้มีพัฒนาการ หลังจากที่ส่งสำนวนแปลแรกไป ได้กำลังใจจากเธอกลับมาว่า “พี่ปุ๊แปลด้วยถ้อยคำสำนวนที่ดีขึ้นมากๆ อย่างเห็นได้ชัดเลยค่ะ พลิ้วขึ้นมาก”

_________________________________________________

ประโลม บุญรัศมี

นักแปลและบรรณาธิการต้นฉบับแปลจากภาษาโปรตุเกส, อาจารย์ ดร. ประจำสาขาวิชาภาษาโปรตุเกส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ArticleBBFBBF2023, Talk