ผลงานแปลเล่มโปรด ของ อำภา โอตระกูล

แนะนำผลงานแปลโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาและวรรณคดีเยอรมัน มีประสบการณ์ด้านการสอนในสถาบันอุดมศึกษาและการแปลกับสำนักพิมพ์ไทยหลายแห่งมาอย่างยาวนาน เพื่อให้นักอ่านได้รู้จักโลกของภาษาเยอรมันมากขึ้น

หนังสือที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อำภา โอตระกูล นำมาแปลโดยทั่วไป เพราะติดใจเนื้อเรื่องที่แปลก สนุก ให้ความคิด ประกอบด้วยหนังสือดังต่อไปนี้

1. “ทิลออยเลนชะปีเกล หรือ ศรีธนญชัยเยอรมัน” (สำนักพิมพ์เรือนปัญญา ค.ศ. 2008)

รวมเรื่องของคนเจ้าเล่ห์เจ้าปัญญาเยอรมันที่แพร่หลายมากว่า 700 ปีแล้ว ชอบมากเพราะได้เห็นชัดว่า คนพื้นบ้านทุกชาติ ศาสนามีปัญญาความคิด เฉลียวฉลาด และมีอารมณ์ขันเหมือนกัน

2. “ไรเนเคอ สุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ นิทานล้อสังคมยุโรปจากศตวรรษที่ 12” (สำนักพิมพ์คบไฟ ค.ศ. 2012)

ชอบเพราะเป็นนิทานสัตว์ที่ใช้สัตว์แสดงบทบาทของคนประชดสังคมมนุษย์ สะท้อนว่าทุกกาลสมัย สิ่งที่ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ คนที่มีไหวพริบ พูดเก่ง จะเอาตัวรอด และชนะคนอื่นเสมอ

3. “ชาวชิลด้า ถ้าจะเพี้ยน ตลกพื้นบ้านเยอรมันจากศตวรรษที่ 16” (สถาบันเกอเธ่ จัดพิมพ์ในโอกาสฉลอง 60 ปีของสถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ ค.ศ. 2018)

ชอบเพราะเป็นเรื่องตลกขบขันของชาวเมืองบ้านนอก ในจินตนาการ ที่มีความคิดแปลก แหวกแนว ใช้วิธีทำสิ่งโง่ๆ เพี้ยนๆ ไม่ปกติ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไม่ธรรมดา ชวนให้คิด

4. “มหากาพย์ นิเบิลลุงเง็น นิยายอัศวินจากลุ่มแม่น้ำไรน์” (มูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ ค.ศ. 2020)

ชอบเพราะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับอัศวินสมัยกลาง ที่โอ่อ่าสง่างาม หยิ่งในเกียรติ รัก รบ ตื่นเต้น เหมือนกับภาพยนต์ที่ชอบดูสมัยเป็นเด็ก ใช้ความมานะแปลอยู่ 5 ปี จึงมีความผูกพันเป็นพิเศษ

5. “เฟาสท์ โศกนาฏกรรมภาคหนึ่ง” ของ โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ (ชุดบรมราชกุมารีอักษรานุรักษ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค.ศ. 2001 และ ค.ศ. 2007)

เรื่องให้ความคิดเรื่องชีวิต และความเป็นมนุษย์ จากแง่มุมของคริสต์ศาสนาอย่างน่าสนใจ เช่น การทำสัญญาระหว่างมนุษย์กับปิศาจ หรือมนุษย์ในฐานะสัตว์โลกที่พระเจ้ารักกับผีปิศาจที่ต้องการต่อสู้กับพระเจ้า มีความพยายามที่จะศึกษาค้นคว้า หาคำตอบว่าอะไรคือความงดงามที่เป็นแก่นแท้มีความหมายแท้จริงต่อชีวิต

สรุปได้ว่า หนังสือแปลที่ชอบ ถูกใจ มีลักษณะเป็นพื้นบ้าน เป็นธรรมชาติ แม้แต่เฟาสท์ที่ดูจะห่างไกล จริงๆ แล้วโครงสร้างก็ได้มาจากตำนานพื้นบ้าน ไม่ผิดจากวลีที่ว่า: “วรรณกรรมพื้นบ้าน คือฐานของวรรณคดี”

_________________________________________________

อำภา โอตระกูล

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเยอรมัน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นักแปลภาษาเยอรมัน, ผู้ก่อตั้งสมาคมครูเยอรมันแห่งประเทศไทย, กรรมการและที่ปรึกษาให้กับสมาคมไทย-เยอรมัน สมาคมนักเรียนเก่าเยอรมันฯ และมูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน

[ อ่านประวัติและผลงานเพิ่มเติม คลิก ]

ArticleBBFBBF2023, Talk