ครูเปียโน (The Piano Teacher) โดย เอลฟรีเดอ เยลิเนค

BBF2021_Articles-Exclusive books (3).jpg

ภูมิหลังของนักเขียนชาวออสเตรียนามว่า เอลฟรีเดอ เยลิเนค (Elfriede Jelinek) กับชีวิตวัยเด็กที่เคยร่ำเรียนในโรงเรียนสอนดนตรีที่เวียนนา กลายเป็นประสบการณ์ที่เธอนำมาต่อยอดในการเขียนนวนิยายเรื่อง ครูเปียโน ที่มีน้ำเสียงเสียดสีแบบเฉียบคม ตรงไปตรงมา

งานเขียนของเยลิเนคมักตั้งประเด็นชวนฉุกคิดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ เรื่องเพศ และโครงสร้างสังคม ทำให้ภาพลักษณ์ของเธอกลายเป็นประเด็นให้คนได้ถกเถียงกัน ทว่างานเขียนของเธอนั้นได้รับการยอมรับเป็นอันดี เธอได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมเรื่อยมา อาทิ the Heinrich Böll Prize, the Büchner Prize และ the Kessing Prize และในปี 2004 เยลิเนคได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ถือเป็นก้าวสำคัญในอาชีพการเป็นนักเขียนของเธอ แต่น่าเสียดายที่เธอไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลได้เนื่องจากเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม

เมื่อมิคาเอล ฮาเนเก ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวออสเตรียได้หยิบเอาเรื่องครูเปียโน ของเยลิเนคมาถ่ายทอดลงบนจอภาพยนตร์ในปี 2001 นวนิยายเรื่องนี้ก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ประเด็นเรื่องความหมายของความสัมพันธ์ในสังคมที่เธอสอดแทรกลงในงานเขียนที่ชวนให้หวาดหวั่นเรื่องนี้ได้สร้างมุมมองใหม่ให้กับโลก

เยลิเนคพาผู้อ่านกระโจนลงไปสู่เรื่องราวชีวิตของครูสอนเปียโนผู้เก็บกด เธอผู้นี้ล้มเหลวในฐานะนักเปียโนบนเวที ทั้งยังมีพฤติกรรมสุดประหลาด ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายตัวเองหรือซ่อนเร้นกายจากผู้คน เธออาศัยอยู่แม่จอมบงการที่มาดหมายให้ลูกสาวอุทิศทั้งชีวิตเพื่อตน ต้องแต่งกายในแบบที่แม่อยากเห็น ต้องทำตัวอย่างที่แม่อยากให้เป็น นั่นทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดำเนินไปท่ามกลางความคุกกรุ่นทางอารมณ์และความเกลียดชัง ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อนักเรียนหนุ่มคนหนึ่งเดินเข้ามาในชีวิตของครูเปียโนสาว ทั้งสองมีความชอบที่ตรงกันและก่อกำเนิดเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง

นวนิยายเรื่อง ครูเปียโน สะท้อนภาพมุมมองความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ระหว่างแม่-ลูก ครู-นักเรียน ผู้คุม-นักโทษ ผู้มีอำนาจ-ผู้ต่ำต้อย นอกจากนี้ยังสื่อให้เห็นว่าอำนาจแฝงอยู่ในทุกเหลี่ยมทุกมุมของสังคม กรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลปี 2004 กล่าวถึงสำนวนการร้อยเรียงเรื่องราวของเยลิเนคว่า “มีความลื่นไหลดุจดนตรี จุดนี้เองที่สร้างความโดดเด่น ขณะเดียวกันเธอก็สามารถเผยให้เห็นภาพของสิ่งที่ดูไร้แก่นสารในสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านั้นกลับมีอำนาจต่อผู้คนเสียเอง” ในปีเดียวกันนั้น เยลิเนคเองให้สัมภาษณ์ว่า “การฝึกเล่นดนตรีและแต่งเพลงช่วยให้ฉันเข้าใจวิธีการทางภาษาของดนตรี เช่น เสียงของคำมากมายที่ฉันเล่นต้องสามารถเผยความหมายที่แท้จริงได้ ทั้งที่มันอาจไม่ได้ตั้งใจจะสื่อสารแบบนั้น” นั่นคือสิ่งที่เธอทำกับงานเขียนของตัวเอง เยลิเนคชักชวนให้ผู้อ่านคิด ตีความ และย้อนมองสังคมกับความสัมพันธ์รอบตัว

(วรรณกรรมฉบับแปลภาษาไทยเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Federal Ministry Republic of Austria Arts and Culture, Civil Service and Sport และ the Austrian Embassy in Bangkok)

▪︎

ข้อมูลจาก
www.nobelprize.org/prizes/literature/2004/jelinek/facts
www.theguardian.com/books/2010/nov/28/the-piano-teacher-review
www.poetryfoundation.org/poets/elfriede-jelinek

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Die Klavierspielerin (2001) กำกับโดย มิคาเอล ฮาเนเก

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Die Klavierspielerin (2001) กำกับโดย มิคาเอล ฮาเนเก