หนังสือแห่งการกดขี่

Books of Oppression

การกดขี่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ต่อเมื่ออำนาจ รองรับด้วยระบบสนับสนุน ซึ่งก็คือบรรทัดฐานทางสังคมนั่นเอง มนุษย์กำหนดบรรทัดฐานต่างๆ ขึ้นมาเป็นกรอบเงื่อนไขในการกีดกันหรือจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากร จึงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ และการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ คนในสังคมถูกกดขี่ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว มีกำแพงใสมากมายที่ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ระบอบและโครงสร้างสังคม ชนชั้นวรรณะ ตระกูล เพศ อายุ อาชีพ การศึกษา ฐานะ ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี ฯลฯ ทั้งนี้ การยินยอมของผู้ที่ถูกกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นการยอมแพ้ ยอมรับอำนาจ หรือยอมปรับตัวให้อยู่รอด คือสิ่งที่ทำให้การกดขี่ไม่มีวันสูญสลาย

ชวนรู้จัก หนังสือแห่งการกดขี่ 15 เล่ม ที่ช่วยเปิดมุมมองเพื่อเข้าถึงการกดขี่หลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ในสังคม

 
AW-Oppression-1.jpg

① สามัญสำนึก

แปลจากหนังสือ Common Sense  ผู้เขียน โธมัส เพน (Thomas Paine)
ผู้แปล ภัควดี วีระภาสพงษ์  สำนักพิมพ์ bookscape

ว่ากันว่านี่คือจุลสารการเมืองที่ทรงพลังที่สุดและมีส่วนนำไปสู่การตัดสินใจปลดแอกตนเองจากการเป็นข้าทาสภายใต้ระบอบกษัตริย์ของอังกฤษที่สืบทอดการปกครองผ่านทางสายเลือด เสพสุขจากเงินภาษีที่ขูดรีดไปจากประชาชน และลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมี มุ่งสู่การมีระบอบการปกครองเพื่อคนส่วนรวมทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่ออภิสิทธิ์ชนคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
สัญญาประชาคมหรือหลักแห่งสิทธิทางการเมือง (The Social Contract) โดย ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ
ธอมัส เพน Thomas Paine นักปฏิวัติสากลนิยมคนแรก โดย รศ. วิทยากร เชียงกูล


AW-Oppression-2.jpg

② หมอผีครองเมือง

แปลจากหนังสือ The Crucible  ผู้เขียน อาเธอร์ มิลเลอร์ (Arthur Miller)
ผู้แปล วัชระ คุปตะเวทิน  สำนักพิมพ์ ดวงกมล

ความประพฤตินอกรีตทำให้การล่าแม่มด อุบัติขึ้นในเมืองซาเล็ม และกลายมาเป็นเครื่องมือห้ำหั่นเพื่อสนองความต้องการส่วนตัว หากพิจารณาร่วมกับยุคสมัยต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นช่วงที่มิลเลอร์เขียนบทละครเรื่องนี้ขึ้นมาก็จะเห็นภาพการกดขี่ (โดยเฉพาะกับเพศหญิง) ความอยุติธรรม และโทษทัณฑ์ถึงชีวิตที่คนจำนวนหนึ่งต้องเผชิญเพียงเพราะคิด-เห็น-เป็น ‘ต่าง’ จากค่านิยมของคนส่วนใหญ่ที่ได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดมาจากชนชั้นปกครองหรือผู้กุมอำนาจ

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
ล่าแม่มด โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์
Vinegar Tom โดย คาริล เชอร์ชิล
The Scarlet Letter โดย นาธาเนียล ฮอว์ธอร์น


AW-Oppression-3.jpg

③ เกลียด

แปลจากหนังสือ The Hate You Give  ผู้เขียน แองจี้ โทมัส (Angela Thomas)
ผู้แปล สุธาสินี วรรณสิทธิ์  สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์

นวนิยายที่บอกเล่าถึงสภาพสังคมและปัญหาจากการเป็นคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา เมื่อเด็กสาววัย 16 ปี กลายเป็นพยานคนเดียวในอาชญากรรมที่ป้ายสีและสร้างภาพให้ผู้เคราะห์ร้ายกลายเป็นผู้ร้าย การบิดเบือนภาพคนผิวดำจนบิดเบี้ยวก่อให้เกิดอคติและการเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงข้อบังคับซึ่งกดขี่ให้จำยอมและจำทนรับสภาพการเป็นเบี้ยล่าง และละเมิดสิทธิเสรีภาพเสียจนกลายเป็นความปกติเพราะคุ้นชิน เสียงในใจเด็กสาวบอกว่าเธอไม่ควรนิ่งเงียบต่อความอยุติธรรม แต่เสียงเรียกร้องให้ปลดเปลื้องการกดขี่นั้นต้องดังมากขนาดไหนผู้คนถึงจะได้ยิน

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด (To Kill a Mockingbird) โดย ฮาร์เปอร์ ลี
จงไปวางยามไว้ให้เฝ้าดู (Go Set a Watchman) โดย ฮาร์เปอร์ ลี


AW-Oppression-4.jpg

④ ห้องของโจวันนี

แปลจากหนังสือ Giovanni’s Room  ผู้เขียน เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin)
ผู้แปล โตมร ศุขปรีชา  สำนักพิมพ์ Library House

บรรทัดฐานสังคมที่กำหนดให้มีเพียงแค่ชายกับหญิง ตามเพศสภาพได้กดทับตัวตนและหัวใจของชายสองคนที่มีรักให้กัน หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวของชายรักชาย แต่เป็น ‘ชายอเมริกันที่หลงรักชายชาวอิตาเลียน’ ผู้ซึ่งกำลังเติบโตและแสวงหาอัตลักษณ์ของตนในช่วงที่สังคมโลกยังไม่เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางเพศ การกดขี่ตัวตนของปัจเจกฝังรากลึกในทุกบริบทรอบตัวตอกย้ำความแปลกแยกและเป็นอื่น อีกทั้งความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนสองคนยิ่งเสริมแรงกดทับจนนำไปสู่ความสัมพันธ์สามเส้าและความโศกเศร้าที่เกาะกินกดขี่หัวใจตราบชั่วชีวิต

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
ที่ใดมีความเศร้า (De Profundis) โดย ออสการ์ ไวลด์
เอ่ยชื่อคือคำรัก (Call Me By Your Name) โดย อันเดร อะซีแมน
แครอล (Carol) โดย แพทริเซีย ไฮสมิธ


สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

⑤ ต้านเกณฑ์ทหาร: รวมบทความนานาชาติ

แปลจากหนังสือ Conscientious Objection, Resisting Militarized Society
คณะผู้แปล ภาคิน นิมมานนรวงศ์, ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี, ธรรมชาติ กรีอักษร และพีระ ส่องคืนอธรรม  
สำนักพิมพ์ สำนักนิสิตสามย่าน

บทเรียนเรื่องการต่อต้านการเกณฑ์ทหารจากนานาประเทศที่ตีแผ่โครงสร้างสถาบันทหารและสถาบันการเมืองที่ค้ำจุนระบบทหารเอาไว้ เนื้อหาในเล่มนี้คือการรวบรวมบทความจากการสัมมนาวิชาการเรื่อง ‘การคัดค้านการเป็นทหารโดยมโนธรรม’ ที่ตุรกี ซึ่งให้มุมมองของโครงสร้างที่กดขี่สิทธิมนุษยชน ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ ข้อถกเถียงทางปรัชญาและเหตุผลทางการเมือง เพศและศีลธรรม ทัศนคติ รวมถึงข้อบทกฎหมาย ซึ่งการมองเห็นแก่นของปัญหาอาจนำมาซึ่งหนทางต่อต้านระบบทหารอย่างแข็งแกร่ง

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
นักศึกษากับสงครามปฏิวัติไทย โดย สุรชาติ บำรุงสุข


AW-Oppression-6.jpg

⑥ Her name is ชื่อของเธอคือ...

แปลจากหนังสือ 그녀 이름은  ผู้เขียน โชนัมจู (조남주)
ผู้แปล นิภารัตน์ รุ่งรังสี  สำนักพิมพ์ Bibli

 คนไทยส่วนใหญ่มักมีภาพจำถึงผู้ชายเกาหลีว่าเป็นคนอบอุ่นและโรแมนติก (ผ่านซีรีย์โทรทัศน์ที่เผยแพร่) แต่ที่จริงแล้วในประเทศเกาหลีใต้มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ต้องทนทุกข์ ดิ้นรน และต่อสู้กับชีวิตภายใต้การกดขี่เพศหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกตั้งแต่อดีตและยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ผู้เขียนใช้วิธีการพูดคุยกับผู้หญิงกว่า 60 คน แล้วนำมาเรียงร้อยเป็นวรรณกรรมเรื่องสั้น 28 เรื่อง นำเสนอชีวิตของ ‘เธอ’ หลากหลายวัย ฐานะ บทบาทและเชื้อชาติ ซึ่งถูกกดขี่จากโครงสร้างสังคม ขนบธรรมเนียมหรือมายาคติ ความไม่เป็นธรรมที่คอยกัดกินพวกเธออย่างเจ็บปวด

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
คิมจียอง เกิดปี 82 (82년생 김지영) โดย โชนัมจู
ว่างยังวุ่น : ชนชั้น เพศสภาพ และเวลาว่างของผู้หญิง โดย สมสุข หินวิมาน


พลอยแสง เอกญาติ

⑦ ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน

แปลจากหนังสือ Příliš hlučná samota  ผู้เขียน โบฮุมิล ฮราบัล (Bohumil Hrabal)
ผู้แปล วริตตา ศรีรัตนา  สำนักพิมพ์ Bookmoby Press

เรื่องราวของชีวิตคนงานโรงงานบดอัดกระดาษขยะรีไซเคิลในยุคสาธารณรัฐสังคมนิยมเซโกสโลวะเกียเซ็นเซอร์งานเขียนและงานศิลปะ แต่ผู้ทำหน้าที่ทำลายกลับหลงใหลการอ่าน ชื่นชมศิลปะ คลั่งไคล้วรรณกรรมและปรัชญากลับถูกจำกัดสิทธิการอ่านและลิดรอนเสรีภาพการเรียนรู้ นี่คืองานเขียนที่แสดงภาพยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมที่คุกคามและกดขี่สิทธิมนุษยชนด้วยระบอบการเมืองการปกครองให้ประชาชนจำนนต่ออำนาจและยินยอมกดขี่ตัวเองเพื่อความอยู่รอด

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
ฟาเรนไฮต์ 451 (Fahrenheit 451) โดย เรย์ แบรดเบอรี


AW-Oppression-8.jpg

⑧ อนุสาวรีย์ (The Monument)

ผู้เขียน วิภาส ศรีทอง  สำนักพิมพ์ สมมติ

การดำรงอยู่ที่เสมือนไร้เป้าหมายภายใต้การปกครองที่คนไม่มีสิทธิตัดสินชะตาของตัวเอง กดขี่ เบียดบัง และบีบคั้นจนทำให้ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองในที่แห่งนี้ลุกขึ้นมาช่วยกันก่อสร้างอนุสาวรีย์ ด้วยความเชื่อที่ว่า นี่คือชีวิตและเป็นความสุขที่พวกเขา ‘เลือกเอง’

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
หลงลบลืมสูญ โดย วิภาส ศรีทอง


AW-Oppression-9.jpg

⑨ เมียชายชั่ว

แปลจากหนังสือ ヴィヨンの妻  ผู้เขียน ดะไซ โอซามุ (太宰 治)
ผู้แปล พรพิรุณ กิจสมเจตน์  สำนักพิมพ์ JLIT

ภาวะของผู้หญิงที่ถูกกดขี่จากสถานะ ‘เมีย’ ต้องยอมรับความทุกข์ยาก ความลำบาก และความทุกข์ใจที่สถานะเมียนี้หยิบยื่นมาให้ด้วยความอดทน ไม่ใช่ผู้เป็นสามีที่หยิบยื่นสภาพที่น่าเศร้าใจนี้มาให้ แต่เป็นสังคมที่กดขี่เขาอยู่อีกชั้นหนึ่งและดังนั้นจึงกดขี่เธอเช่นกัน

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
สตรีผู้มีอาชีพเลี้ยงลูก (빈처) โดย รวมนักเขียนเกาหลีใต้
มีอะไรในสวนหลังบ้าน (마당이 있는 집) โดย คิมจินยอง
เล่นซ่อนหาย (Gone Girl) โดย กิลเลียน ฟลินน์


ภาสุรี ลือสกุล

⑩ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ

ผู้เขียน ภรณ์ทิพย์ มั่นคง  สำนักพิมพ์ อ่าน

บันทึกกว่า 800 หน้าของภรณ์ทิพย์ มั่นคง อดีตผู้ต้องหาคดี 112 ในช่วงที่ได้รับโทษจำคุกนาน 2 ปี 16 วัน จากการทำละครเวทีเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า เมื่อ พ.ศ.2556 ตัวอักษรที่บอกเล่าถึงสิ่งที่นักโทษต้องเผชิญเมื่อถูกจำคุก ทั้งความผิดในคดีทางการเมืองและนักโทษคนอื่นจากคดีต่างๆ และการกดขี่มนุษย์โดยรัฐผ่านกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตย ภรณ์ทิพย์ต้องลักลอบเขียนลงในกระดาษต่างๆ และต้องหาทางนำบันทึกออกมาอย่างยากลำบากเพราะนี่คือหลักฐานสำคัญที่เปิดประตูกรงแห่งดินแดนสนธยาไร้อิสรภาพให้ภายนอกได้เห็นความอ่อนแอของรัฐ ความเข้มแข็งของผู้ถูกจองจำ และความกังขาในระบบยุติธรรม

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
ตาสว่าง (Il Re di Bangkok) โดย Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri และ Chiara Natalucci
อยู่กับบาดแผล โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บันทึกจากบ้านคนคุก (Notes From The Dead House) โดย ฟีโอดอร์ ดอสโตยเยียฟสกี


AW-Oppression-11.jpg

การศึกษาของผู้ถูกกดขี่

แปลจากหนังสือ Pedagogy of the Oppressed  ผู้เขียน เปาโล เฟรรี (Paulo Freire)
ผู้แปล สายพิน กุลกนกวรรณ ฮัมดานี  สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา

การศึกษาถือเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของผู้มีอำนาจโดยถ่ายทอดความคิด ค่านิยม และความรู้สู่ผู้เป็นเบี้ยล่างก็คือ ผู้เรียน ระบบการศึกษาไทยทำให้พื้นที่ทางการศึกษากลายเป็นพื้นที่ของอำนาจนิยม โดยใช้พิธีกรรม ธรรมเนียม เครื่องแบบและสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นกรอบกำหนดพฤติกรรม รัฐจัดการเบ็ดเสร็จโดยส่งนโบายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในสถานศึกษา คือ ผู้อำนวยการหรืออธิการบดี และทำการส่งต่อให้ครูเป็นคนกดขี่ผู้เรียนอีกทีหนึ่ง ทำอย่างไรให้การศึกษาสร้างโลกทัศน์มุมใหม่อันจะนำไปสู่การปลดปล่อยพันธนาการของการกดขี่ได้อย่างแท้จริง

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
การละครของผู้ถูกกดขี่ (Theater of the Oppressed) โดย ออกัสโต บูอาล
I Am Malala โดย มาลาลา ยูซัฟไซ


AW-Oppression-12.jpg

⑫ อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา

แปลจากหนังสือ I Didn’t Kill My Husband  ผู้เขียน หลิวเจิ้นอวิ๋น (Liu Zhenyun)
ผู้แปล ศุนิษา เทพธารากุลการ  สำนักพิมพ์ มติชน

เรื่องราวของสาวชาวบ้านที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ ระบบราชการ กระบวนการยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมชายเป็นใหญ่ของประเทศจีนตลอด 20 ปี เมื่อแผนการหย่ากันปลอมๆ ถูกคุณสามีตลบหลังด้วยการไปมีเมียน้อย ภรรยาจึงต้องหาทางแก้แค้นโดยการฟ้องร้องเพื่อให้การหย่านั้นเป็นโมฆะ ผู้คนพากันตราหน้าว่าเธอเป็นนังแพศยา เหล่าเจ้าหน้าที่หัวเราะเยาะกับคดี ‘หย่าร้างกิ๊กก๊อก’ แต่เธอก็ลุยฟาดฟันกับข้าราชการน้อยใหญ่ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ มณฑล ไปจนถึงผู้นำประเทศ แม้จะเป็นการต่อสู้เรื่อง ‘ผัวๆ เมียๆ’ แต่กลับสะเทือนเลือนลั่นถึงโครงสร้างสังคมของประเทศชาติ

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
ผู้หญิง | อำนาจ (Women & Power: A Manifesto) โดย แมรี เบียร์ด
มาเรียนนา (La lunga vita di Marianna Ucrìa) โดย ดาชา มาราอินี
เหลี่ยมโบตั๋น (Crazy Rich Asians) โดย เควิน ควาน


AW-Oppression-13.jpg

⑬ ผู้อัญเชิญไฟ

แปลจากหนังสือ The Emissary  ผู้เขียน โยโกะ ทาวาดะ (Yoko Tawada)
ผู้แปล มุทิตา พานิช  สำนักพิมพ์ กำมะหยี่

เมื่อประเทศแห่งความเจริญทางเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติร้ายแรงจนต้องปิดประเทศ ทุกสิ่งสามัญกลับตาลปัตร เมืองศิวิไลซ์รกร้างและเต็มไปด้วยมลพิษ ธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่าสูญสิ้น ไม่มีอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบธนาคาร ความเชื่อเดิมถูกลบล้าง ห้ามเรียน/ใช้ภาษาต่างประเทศ เด็กอ่อนแอและอายุสั้น คนชราเป็นแรงงานและเสาหลักของสังคม ฯลฯ เรื่องราวแนวดิสโทเปียสะท้อนผลจากกดขี่ในมิติต่างอย่างแยบยล อรรถประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์กลายเป็นหลุมพลางที่กดขี่ศักยภาพของตนเองจากทั้งโครงสร้างสังคม การเมืองการปกครอง กลไกการจัดสรรทรัพยากร หรือมายาคติของความเป็นชาติที่พรางตาประชาชนเอาไว้

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
บอด (Ensaio Sobre a Cegueira) โดย ฌูเซ่ ซารามากู
สุสานสยาม โดย ปราบต์
Parable of the Sower โดย ออคโตเวีย อี. บัตเลอร์


AW-Oppression-14.jpg

⑭ บีเลิฟด์

แปลจากหนังสือ Beloved  ผู้เขียน โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison)
ผู้แปล รังสิมา ตันสกุล  สำนักพิมพ์ Library House

เรื่องราวที่เล่าผ่านสายตาของทาสคนหนึ่งผู้ปรารถนาถึงชีวิตสงบสุขและเสรี เธอจึงพาลูกๆ และแม่สามีหลบหนีไปยังรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาที่ปราศจากการกดขี่คนผิวสี แม้พวกเขาหลบหนีจนสำเร็จทว่ากลับต้องประสบกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงชีวิต อีกทั้งวิญญาณร้ายในอดีตที่ตามหลอกหลอนชีวิตพวกเขา วรรณกรรมรางวัล Pulitzer ปี 1987 เล่มนี้ฉายมุมมองของผู้ที่ถูกกดขี่ ซึ่งทับซ้อนอยู่ใต้อำนาจหลากหลายชั้นทั้งสีผิว เชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทาส สิทธิและเสรีภาพ ความเชื่อและคติ วัฒนธรรม สังคมปิตาธิปไตย การเมือง กฎหมาย ฯลฯ นี่คือบาดแผลของผู้หญิงผิวดำในสังคมอเมริกันที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่ยุคค้าทาสมาจนถึงปัจจุบัน ยุคที่เสียงของพวกเธอยังคงเบาและถูกละเลย

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
ฤาสิ้นสุดมนุษยภาพ (Twelve Years a Slave) โดย โซโลมอน นอร์ทอัพ
ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า (The Bluest Eye) โดย โทนี มอร์ริสัน


ตรองสิริ ทองคำใส

⑮ ใครคือเจ้าของบ้าน ฉันหรือแมว

แปลจากหนังสือ The Lion in the Living Room  
ผู้เขียน แอบีเกล ทักเกอร์ (Abigail Tucker)
ผู้แปล โตมร ศุขปรีชา  สำนักพิมพ์ Salt Publishing

การกดขี่ข่มเหงและ ‘การทำให้เป็นทาส’ ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกขณะนี้และไม่มีทีท่าว่ามนุษย์จะสามารถต่อต้านได้! ‘แมว’ สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีวันยอมตกเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ แต่วางแผนเข้าหามนุษย์เพื่อความสะดวกสบาย หลอกล่อให้มนุษย์หาเลี้ยง ฝึกมนุษย์จนเชื่องเพื่อเป็นทาสไว้ใช้สอย จนกระทั่งทำการยึดครองพื้นที่อาศัยของมนุษย์แทบจะเบ็ดเสร็จ หนังสือเล่มนี้ช่วยตีแผ่ภารกิจครองโลกของแมวในเชิงวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปและวิวัฒนาการจากสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน วิถีแมวๆ ที่ส่งผลต่อสังคมและระบบนิเวศน์ของโลก

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจ
อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว (吾輩は猫である) โดย นัตสึเมะ โซเซกิ
แมวกับนายโชโซและผู้หญิงสองคน (猫と庄造と二人の女) โดย ทานิซากิ จุนอิจิโร
How to Tell If Your Cat Is Plotting to Kill You โดย แมทธิว อินแมน